มหาสารคาม - ชาวบ้าน 3 หมู่บ้านใน ต.หัวขวาง อ.โกสุมพิสัยจัดงานกฐินซับน้ำตาผู้ประสบภัยน้ำท่วม เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจสู้กันต่อ หลังน้ำท่วมนานครึ่งเดือนได้ลดลงกลับสู่ภาวะปกติแล้ว แต่ข้าวของเครื่องใช้หลายอย่างภายในบ้านที่เก็บขึ้นที่สูงไม่ทันเสียหายเกือบหมด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เช้าวันนี้ (5 พ.ย.) ที่บ้านแก่งโกสุม ต.หัวขวาง อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม เจ้าภาพกฐิน 3 หมู่บ้านร่วมแรงร่วมใจทำกองกฐินเพื่อนำไปช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยจะมีขบวนเจ้าภาพหลักซึ่งจะนำไปทอดที่วัด และขบวนกฐินซาเล้ง หรือสามล้อเครื่อง 20 คัน หรือเรียกว่ากฐินรวมซาเล้งจะนำเงินรายได้ช่วยเหลือคนในหมู่บ้านที่ถูกน้ำจากแม่น้ำชีเอ่อท่วมขังนานกว่าครึ่งเดือน
โดยแต่ละคันก็จะมีการประดับผ้าอย่างสวยงามพร้อมกับมีร่มเพื่อป้องกันแสงแดดและเกิดสีสันสวยงาม เป็นระเบียบ แต่ละคันจะมีเจ้าภาพกฐิน 1 ครอบครัวหรือกฐิน 1 กอง เจ้าภาพกฐินได้ถือผ้าไตร และต้นเงิน เพื่อที่จะนำไปทอดตามประเพณี โดยต้องเดินแห่กองกฐินรอบหมู่บ้านให้ครบ 3 รอบ มีการโปรยเหรียญไปตลอดทาง จนกว่าจะถึงวัดที่ทอดถวายบรรยากาศตลอดการแห่กฐินชาวบ้านต่างมีหน้าที่ยิ้มแง้มแจ่มใส ฟ้อนรำด้วยความสนุกสนาน
ประเพณีการทอดกฐินของพุทธศาสนิกชนไทยมีมาช้านาน ในปัจจุบันการทอดถวายผ้าไตรจีวรเพื่อใช้ในสังฆกรรมสำคัญของคณะสงฆ์ได้ถูกลดความสำคัญลงไป แต่กลับให้ความสำคัญต่อบริวารของกฐินทานแทน เช่น เงิน หรือวัตถุสิ่งของ เพื่อนำสิ่งเหล่านี้มาพัฒนาถาวรวัตถุและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา กฐินมีกำหนดระยะเวลาถวาย เพียง 1 เดือน คือตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ระยะเวลานี้เรียกว่า เทศกาลทอดกฐิน
นายสมพงษ์ สิทธิหาโคตร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 18 เปิดเผยว่า ชาวบ้านแก่งโกสุมได้ประสบอุทกภัยน้ำท่วมขังหมู่บ้านตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา ระดับน้ำสูงสุดประมาณ 1.50 เมตร ชาวบ้านเดือดร้อน3หมู่บ้าน ประกอบไปด้วย หมู่ 8, 16 ,18 ประชากร 380 หลังคาเรือน
ต่อมาชาวบ้านได้ร่วมแรงร่วมใจผลักดันน้ำออกจากหมู่บ้านด้วยการกั้นคันดิน และสูบน้ำออก ทำให้น้ำลดลงอย่างต่อเนื่องและ เมื่อน้ำลดลงเข้าสู่สภาวะปกติจึงได้ร่วมใจกันจัดงานกฐินขึ้น ด้วยความร่วมมือของชาวบ้านที่น้ำท่วมไม่ถึงร่วมกันบริจาคคนละนิดคนละหน่อยตามกำลัง เพื่อนำเงินมาสมทบช่วยเหลือชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วม และสร้างขวัญกำลังใจ ให้กับชาวบ้านที่ต่อสู้กับน้ำท่วม รวมถึงพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย
ซึ่งรายได้ส่วนหนึ่งจะมอบให้วัดแก่งโกสุมเพื่อบูรณะวัดที่ถูกน้ำท่วม และอีกส่วนหนึ่งจะมอบให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วมหนักที่ได้รับความเดือดร้อนหนักนำไปซ่อมแชมบ้านต่อไป รวมยอดกฐินรวม ของชาวบ้าน ยอดเงินจำนวน 70,000 บาท(เจ็ดหมื่นบาท) และ กฐินเจ้าภาพยอดเงิน 300,000 บาท(สามแสนบาท)