xs
xsm
sm
md
lg

DSI-ป.ป.ท.ลงพื้นที่สารภีเก็บข้อมูลกรณีพบสวมตัวทำบัตร ปชช.กว่า 50 ราย-จ่อแกะรอยเส้นทางการเงินขยายผล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงใหม่ - กรมสอบสวนคดีพิเศษ และ ป.ป.ท.ลงพื้นที่อำเภอสารภีเก็บข้อมูลหลักฐานเพิ่มเติมกรณีตรวจสอบพบการสวมตัวทำบัตรประจำตัวประชาชนกว่า 50 ราย เบื้องต้นไม่ปักใจเชื่อว่าลูกจ้างก่อเหตุเพียงลำพังตามที่กล่าวอ้าง เตรียมแกะรอยเส้นทางการเงินเพื่อขยายผลเชื่อมโยงเครือข่าย ชี้เป็นภัยร้ายแรงต่อความมั่นคงประเทศชาติ


ความคืบหน้ากรณีตรวจสอบพบการสวมตัวทำบัตรประจำตัวประชาชนกว่า 50 ราย ที่อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ โดยเจ้าหน้าที่ที่เป็นลูกจ้างช่วยงานด้านทะเบียนของอำเภอได้ลักลอบดำเนินการด้วยการใช้รหัสการเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลในการทำบัตรประชาชนของปลัดอำเภอที่เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย พร้อมทั้งปลอมลายมือชื่อของปลัดอำเภอในการทำบัตรประชาชนให้กับผู้ที่สวมตัวทำบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งต่อมาทางอำเภอตรวจสอบพบความผิดปกติและสอบสวนลูกจ้างคนดังกล่าว จนให้การรับสารภาพและมีการแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว ขณะเดียวกันทำการยกเลิกบัตรประจำตัวประชาชนดังกล่าวทั้งหมด

วันนี้ (28 ต.ค. 65) ที่ว่าการอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ พันตำรวจโท พงศ์อินทร์ อินทรขาว ที่ปรึกษากรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) พร้อมด้วยนายณัฏฐนันท์ บัวศักดิ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เขต 5 (ป.ป.ท.เขต 5) พร้อมเจ้าหน้าที่ DSI และ ป.ป.ท. เข้าพบนายเลอยศ พุทธชิโนรสสกุล นายอำเภอสารภี เพื่อพูดคุยหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูล รวมทั้งตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวกับกรณีการสวมตัวทำบัตรประชาชนที่เกิดขึ้นดังกล่าว

ทั้งนี้ ที่ปรึกษากรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เปิดเผยว่า เบื้องต้นทางจังหวัดเชียงใหม่ร่วมกับสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ตรวจสอบพบว่ามีการสวมตัวทำบัตรประชาชนที่อำเภอสารภีในช่วงที่ผ่านมาของปี 2565 เบื้องต้นจำนวน 59 ราย แต่อาจจะมีจำนวนมากกว่านี้ ซึ่งการที่ DSI และ ป.ป.ท.ร่วมกันลงพื้นที่ในครั้งนี้เพื่อรับทราบและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพิ่มเติม ในเชิงบูรณาการและสนับสนุนส่งเสริมการทำงานร่วมกันกับทางจังหวัดเชียงใหม่และกรมการปกครอง ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในการตรวจสอบดำเนินการกรณีที่เกิดขึ้นนี้


สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นที่อำเภอสารภีนั้น พันตำรวจโท พงศ์อินทร บอกว่า จากข้อมูลการให้ปากคำของลูกจ้างที่เป็นผู้ก่อเหตุได้ให้การในลักษณะที่เป็นการตัดตอนว่าก่อเหตุด้วยตัวเองเพียงลำพังด้วยการปลอมลายมือชื่อหรือให้ผู้ช่วยนายทะเบียนลงลายมือชื่อในเอกสารทิ้งไว้ อย่างไรก็ตามไม่น่าเชื่อว่าจะทำเพียงลำพังได้ จึงจะต้องมีการขยายผลว่ามีผู้ใดที่เกี่ยวข้องร่วมด้วยอีกหรือไม่ อย่างไร โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงและรับรู้ความเคลื่อนไหวข้อมูลทางทะเบียนของบุคคล อีกทั้งยังเข้าถึงครอบครัวและได้หลักฐานรวบรวมนำมาให้ใช้ในการสวมตัวทำบัตรประชาชน จึงสันนิษฐานว่าน่าจะต้องมีผู้เกี่ยวข้องอีกในการทำหน้าที่ดังกล่าว ซึ่งจะต้องเร่งขยายผลต่อไป ไม่ใช่ยุติแค่คนที่อ้างว่าทำผิดเพียงลำพัง

ที่ปรึกษากรมสอบสวนคดีพิเศษบอกว่า นอกจากการสอบปากคำแล้ว ยังจะต้องมีการนำวิธีการอื่นๆ และการตรวจสอบเส้นทางการเงินมาใช้ร่วมด้วยเพื่อทำให้เห็นความเชื่อมโยงที่ชัดเจน ส่วนการดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้เกี่ยวข้องกระทำผิดนั้น เมื่อขยายผลแล้วจะต้องดำเนินการทั้งหมด ทั้งในส่วนของลูกจ้างในฐานะเจ้าหน้าที่ที่ประพฤติมิชอบ และผู้ที่มาสวมตัวทำบัตรประชาชน ซึ่งเบื้องต้นกระทำผิดในเรื่องของการปลอมแปลงเอกสาร และความผิดตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน อย่างไรก็ตาม เมื่อขยายผลแล้วอาจพบว่ามีความผิดและมีผู้เกี่ยวข้องมากกว่านี้ก็ได้

ขณะเดียวกัน ที่ปรึกษากรมสอบสวนคดีพิเศษระบุว่า การสวมตัวทำบัตรประจำตัวประชาชนนั้นมีการทำกันมานานแล้วนับ 20 ปี ซึ่งถือว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศชาติอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการสวมตัวทำบัตรประชาชนนั้นมีตั้งแต่คนธรรมดาทั่วไป และคนต่างด้าวที่หวังเข้ามาทำธุรกิจ รวมทั้งอาชญากรที่หลบหนีการกระทำความผิดหรือเตรียมจะเข้ามากระทำความผิด ซึ่งขั้นตอนกระบวนการสวมตัวทำบัตรประชาชนนั้น พบว่าผู้ที่สวมตัวต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่กรณีนี้ยังไม่สามารถระบุเป็นตัวเงินได้ว่าเท่าใด






กำลังโหลดความคิดเห็น