xs
xsm
sm
md
lg

เตาเผาถ่านโบราณบ้านเขายี่สาร สมุทรสงคราม ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สมุทรสงคราม - เตาเผาถ่านโบราณบ้านเขายี่สาร จ.สมุทรสงคราม ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ปัจจุบันมีกลุ่มคนอยู่อาศัยสืบทอดกันมาไม่น้อยกว่า 800 ปี ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านสงบร่มเย็น และสืบทอดวัฒนธรรมความเป็นอยู่แบบชาวบ้านที่น่าสนใจ และน่าไปท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
บ้านเขายี่สาร เป็นชุมชนเล็กๆ ตั้งอยู่ในตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นหมู่บ้านที่มีกลุ่มคนอยู่อาศัยสืบทอดกันมาไม่น้อยกว่า 800 ปี ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านเขายี่สาร สงบร่มเย็น และสืบทอดวัฒนธรรมความเป็นอยู่แบบชาวบ้านที่น่าสนใจ และน่าไปท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างยิ่ง

ชาวบ้านยี่สาร นอกจากจะมีอาชีพประมงชายฝั่งแล้ว ส่วนหนึ่งมีอาชีพเผาถ่านไม้โกงกางขาย มีการสร้างเตาเผาถ่านขนาดใหญ่ และมีการปลูกป่าโกงกางแบบหมุนเวียน เพื่อตัดไม้มาเผาเป็นถ่าน จึงไม่ถือเป็นการตัดไม้ทำลายป่า หรือสร้างความเสียหายให้สิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด

คุณป้าทองปรุง ดรุณศรี อายุ 80 ปี เจ้าของเตาเผาถ่านโบราณรายใหญ่ในตำบลยี่สาร บอกว่า เกือบ 100 ปีแล้วที่ชาวบ้านเขายี่สารพบว่าไม้โกงกางที่มีมากในพื้นที่ สามารถใช้เผาเป็นถ่านได้ดี ไฟแรง ให้ความร้อนสูง ขี้เถ้าน้อย ไม่แตกปะทุ และไม่มีควัน

ที่สำคัญระยะเวลาการเผาไหม้นานกว่า 2 ชั่วโมง หรือนานกว่าถ่านไม้ธรรมดาถึง 2 เท่า จึงมีการปลูกไม้โกงกางในที่ดินของเอกชน หรือที่ดินของตนเองเพื่อใช้ป้อนเตาเผาถ่านกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยไม้โกงกางที่ใช้เผาถ่านจะต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 10  ปีขึ้นไป เมื่อไม้เติบโตได้ขนาดแล้วชาวบ้านจะตัดให้ได้ความยาวท่อนละประมาณ 1.30 เมตร เรียกว่า "ไม้หลา" แล้วทุบเปลือกออกเพื่อเวลาเผานอกจากจะได้ไม่มีควันแล้ว ถ่านยังมีสีสวยอีกด้วย ส่วนไม้ที่เป็นกิ่งเล็กๆ และรากโกงกางใช้เป็นเชื้อเพลิงในการเผาถ่านได้อีกด้วย

สำหรับตาเผาถ่านนั้นลักษณะเป็นการก่ออิฐมอญทนไฟ เตาหนึ่งใช้อิฐประมาณ 40,000 ก้อน ลักษณะเตาโค้งเป็นรูปโดมมีปล่องระบายควัน จำนวน 5 ปล่อง มีช่องด้านหน้าที่สามารถปิดเปิดได้เพื่อนำไม้ที่จะเผาเข้าเรียงและเป็นช่องนำถ่านที่เผาเสร็จแล้วออก นอกจากนี้ ยังมีโรงเรือนหรือที่เรียกกันว่า "โรงถ่าน" จะนิยมสร้างด้วยไม้ไผ่หลังคามุงจากคลุมเตาเผาถ่านเพื่อช่วยระบายความร้อนอีกทั้งยังกันฝนได้ดี และมีความคงทนประมาณ 40-50 ปี ส่วนค่าใช้จ่ายในการสร้างเตาเผาถ่านแต่ละเตานั้น ปัจจุบันอยู่ที่เตาละประมาณ 400,000 บาทเศษ
            
คุณป้าทองปรุง บอกว่า การเผาถ่านเตาหนึ่งต้องใช้ไม้โกงกางประมาณ 10,000 ท่อน โดยใช้ไม้ขนาดใหญ่วางเรียงเป็นแบบตั้ง เรียกว่า “ไม้ตั้ง” ส่วนไม้ขนาดเล็กวางเรียงเป็นแนวนอน เรียนว่า "ไม้ซ้อน” จนเต็มเตาแล้วจึงปิดประตูเตาด้วยการก่ออิฐจนเหลือช่องขนาดเล็กสำหรับใส่ไฟ การใส่ไฟจะใส่ตลอดเวลาของการเผาถ่านซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 12 วัน หลังจากนั้นจึงเปิดเตาทิ้งไว้ เมื่อถ่านในเตาเย็นลงจึงลำเลียงออกมา โดยหนึ่งเตาจะได้ถ่านคิดเป็นน้ำหนักประมาณ 6,000 กิโลกรัม หรือ 6 ตัน อดีตมีผู้ซื้อมารับซื้อถึงที่และส่วนหนึ่งส่งไปขายที่กรุงเทพฯ ร้านอาหาร ร้านปิ้งย่าง และโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ
           
อย่างไรก็ตาม หลังจากครัวเรือนมีการใช้ก๊าชหุงต้มเป็นเชื้อเพลิง ได้ส่งผลให้ความต้องการถ่านน้อยลง โชคดีที่ถ่านไม้โกงกางเป็นที่ต้องการของต่างประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศในตะวันออกกลาง จึงทำให้การเผาถ่านขายกลับมาคึกคักอีกครั้ง แต่ช่วงการระบาดของโควิด-19 ต่างประเทศงดสั่งถ่าน ส่วนในประเทศร้านปิ้งย่าง ร้านอาหารที่เคยเป็นลูกค้ารายใหญ่สั่งเข้ามาน้อยมาก ทำให้เตาเผาถ่านโบราณในตำบลยี่สาร ปัจจุบันลดน้อยลงไปมาก จากอดีตที่เคยมีผู้ทำนับ 10 ราย เหลืออยู่เพียงแค่ 4 ราย จำนวน 33 เตาเท่านั้น แต่ชาวบ้านเขายี่สารยังคงอนุรักษ์อาชีพนี้ไว้ เพราะเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น อีกทั้งถ่านยังสามารถใช้ทดแทนก๊าชหุงต้มยามที่ขาดแคลนได้
           
คุณป้าทองปรุง บอกด้วยว่า อยากให้อาชีพเผาถ่านไม้โกงกางด้วยเตาเผาแบบโบราณนี้ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวชุมชนบ้านเขายี่สารไม่สูญหายไป จึงอยากให้ทางจังหวัดสมุทรสงคราม มีการส่งเสริมสนับสนุนชุมชนบ้านเขายี่สาร จัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องการเผาถ่านไม้โกงกางด้วยเตาเผาแบบโบราณ เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้ผู้ที่สนใจมาศึกษาหาความรู้ต่อไป สำหรับผู้ที่สนใจจะไปชมการเผาถ่านไม้โกงกางด้วยเตาเผาแบบโบราณดังกล่าว ติดต่อได้ที่โทรศัพท์ 08-1906-1120 ทุกวัน 










กำลังโหลดความคิดเห็น