เชียงราย - “หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย” รองรับงาน Chiangrai International Art Museum :CIAM 2023 คืบหน้าต่อเนื่อง..ล่าสุดออกแบบ 2 อาคารหลัก ผสานศิลปะบ้านดำ-วัดร่องขุ่น เอกลักษณ์ 2 ศิลปินแห่งชาติ “ถวัลย์ ดัชนี-เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์” ชัด
ความคืบหน้าโครงการก่อสร้าง "หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย Chiangrai International Art Museum :CIAM" บ้านสันตาลเหลือง หมู่ 1 ต.ริมกก อ.เมืองเชียงราย ใกล้ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เพื่อรองรับการจัดงานมหกรรมศิลปะนานาชาติ หรือ Thailand Biennale Chiangrai 2023 เบื้องต้นมีกำหนดจัดขึ้นในเดือน พ.ย. 2566 เป็นต้นไป
พบว่าได้มีการนำผสานศิลปะที่แสดงถึงเอกลักษณ์ 2 ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงรายอย่างชัดเจน คือ อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี เจ้าของบ้านดำผู้ล่วงลับ และอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ผู้รังสรรค์ศิลปะวัดร่องขุ่น ที่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวดังของเชียงราย ผ่าน 2 อาคารหลักทรงสี่เหลี่ยมสูง 3 ชั้นครึ่ง
อาจารย์สุวิทย์ ใจป้อม นายกสมาคมขัวศิลปะ จ.เชียงราย กล่าวว่า หลังมีการออกแบบอาคารหลักดังกล่าวและอาจารย์เฉลิมชัยได้อนุมัติแล้ว ก็ได้เร่งก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง ในวงเงินประมาณ 35-40 ล้านบาท เพื่อรองรับการจัดงาน Thailand Biennale Chiangrai 2023 ก่อน ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือน ก.พ. 2566 ทันต่อการจัดงานอย่างแน่นอน
แต่การจัดงาน Thailand Biennale Chiangrai ต้องใช้พื้นที่จัดแสดงผลงานของศิลปินทั่วโลกถึง 5,000 ตารางเมตร ดังนั้นนอกจากหอศิลป์ร่วมสมัยที่กำลังเร่งก่อสร้างนี้แล้ว ยังแยกไปจัดจุดอื่นๆ ด้วย ได้แก่ วัดป่าสัก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน สามเหลี่ยมทองคำ หอฝิ่น อ.เชียงแสน พิพิธภัณฑ์ปลาบึก อ.เชียงของ ดอยช้าง อ.แม่สรวย และอาจจะจัดที่ อ.พาน ฯลฯ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับภัณฑารักษ์หรือผู้ดูแลงานมหกรรม ซึ่งยังอยู่ระหว่างเดินทางไปตรวจพื้นที่ต่างๆ ทั้ง 18 อำเภอของเชียงราย เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดงาน
นายกสมาคมขัวศิลปะ จ.เชียงรายกล่าวด้วยว่า การจัดงาน Thailand Biennale มีขึ้นในประเทศไทยครั้งแรกที่กระบี่ ระหว่างวันที่ 2 พ.ย. 2561-28 ก.พ. 2562 และต่อมาจัดที่นครราชสีมา ระหว่างวันที่ 18 ธ.ค. 2564-31 มี.ค. 2565 เราจึงจะนำประสบการณ์จากจังหวัดต่างๆ มาปรับใช้พัฒนาการจัดงานให้ยิ่งใหญ่ โดยจะเชิญศิลปินทั่วโลกนำผลงานทั้งประติมากรรม จิตรกรรม ฯลฯ มาร่วมจัดแสดง แต่จะพยายามให้มีผลงานจากศิลปินชาวไทยให้ได้มากที่สุด
สำหรับ “หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย” สร้างขึ้นหลังจากอาจารย์เฉลิมชัยได้เสาะแสวงหาที่ดินเพื่อก่อสร้างมานาน กระทั่งนายทวีชัย อร่ามรัศมีกุล เศรษฐีเจ้าของที่ดินเขตบ้านสันตาลเหลือง ใกล้ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงฯ บริจาคที่ดินกว่า 17 ไร่ เป็นสถานที่ก่อสร้าง และนายมงคล จงสุทธนามณี อดีตนักการเมืองชื่อดังของเชียงราย ได้บริจาคเพิ่มอีก 2-3 ไร่ ทำให้มีการว่าจ้าง SCG (บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด) ทำการก่อสร้าง
และหลังการก่อสร้าง “หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย” ที่ใช้เนื้อที่ประมาณ 4-5 ไร่ รองรับการจัดงาน Thailand Biennale ก็จะมีการก่อสร้างอาคารอื่นๆ และหมู่บ้านศิลปิน Art Village เบื้องต้นจำนวน 32 หลัง คาดว่าต้องใช้งบประมาณทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท