แม่ฮ่องสอน –ฝ- ทั้งกิงกะหล่า-นกโต ฯลฯ มาหมด ร่วมขบวน “แห่จองพารา”..พี่น้องชาวไทใหญ่-นักท่องเที่ยวไทย/เทศ เฝ้ารอชม-ร่วมงานปอยเหลินสิบเอ็ด รับออกพรรษากันเนืองแน่นทั้งสองฝั่งถนนกลางเมืองแม่ฮ่องสอน หลังงดจัดงานหนีโควิดมาหลายปีติด
ตัวเมืองแม่ฮ่องสอนคึกคักเต็มไปด้วยชาวบ้านในพื้นที่และนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย-ต่างประเทศ ที่พากันเดินทางไปชมขบวนแห่จองพารา ที่เคลื่อนจากย่านหอนาฬิกาศาลากลางจังหวัดแม่ฮ่องสอน เข้าสู่ถนนขุนลุมประพาส และถนนสิงหนาถบำรุง เข้าสู่บริเวณงานประเพณีปอยเหลินสิบเอ็ด ที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ตระการตาตั้งแต่หัวค่ำ จนถึงกลางดึกคืนที่ผ่านมา (8 ต.ค. 65) หลังจากที่ไม่มีการจัดงานปอยเหลินสิบเอ็ดมาหลายปี จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
ขบวนแห่จองพารา เป็นกิจกรรมหนึ่งในงานประเพณีปอยเหลินสิบเอ็ด หรืองานประเพณีออกพรรษาของชาวไทใหญ่ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นของจังหวัดแม่ฮ่องสอนอีกงานหนึ่ง “จองพารา” คือ ปราสาทพระ ตามคติความเชื่อของคนไตหรือชาวไทใหญ่ การบูชาจองพารา คือการสร้างปราสาทเพื่อคอยรับเสด็จพระพุทธเจ้าที่จะเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เทศกาลนี้จัดขึ้นระหว่างวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันแรม 8 ค่ำ เดือน 11
ก่อนถึงวันงานจะมีการจัดงานตลาดนัดออกพรรษา มีการนำสินค้าต่างๆ ที่จะใช้ในการทำบุญ เช่น อาหาร ขนม ดอกไม้ เครื่องไทยทานมาวางขายเพื่อให้ชาวบ้านได้หาซื้อข้าวของเครื่องใช้ในการเตรียมงาน และมีการจัดเตรียมสร้าง “จองพารา” เพื่อใช้สมมติเป็นปราสาทรับเสด็จพระพุทธองค์จากสวรรค์
เมื่อถึงรุ่งเช้ามืดของวันขึ้น 15 ค่ำ ซึ่งตรงกับวันออกพรรษา จะมีการตักบาตรเทโวโรหณะ ตอนกลางคืนตามบ้านเรือนและวัดต่างๆ จะมีการจุดประทีปโคมไฟสว่างไสว มีการแห่ "จองพารา" หรือ "ปราสาทรับเสด็จพระพุทธเจ้า" ซึ่งตกแต่งประดับประดาอย่างสวยงามดังกล่าว มีการแสดงการละเล่นพื้นเมืองและมหรสพต่างๆ
ซึ่งชาวไทใหญ่มีความเชื่อที่ว่าถ้าได้จัดทำจองพาราหรือปราสาทพระรับเสด็จพระพุทธเจ้าที่บ้านของตนเองแล้วครอบครัวจะอยู่เย็นเป็นสุข “จองพารา” จะประกอบด้วยโครงที่ทำจากไม้ไผ่ บุด้วยกระดาษสา ตกแต่งด้วยกระดาษสีบุลายศิลปะชาวไต มีลวดลายสวยงาม ชาวบ้านจะนำอาหารที่ประกอบด้วย ข้าวสวย ขนม ผลไม้ ใส่ในกระทงใบตองวาง หรือใส่ภาชนะไว้บนจองพารา จุดธูปเทียนกล่าวอัญเชิญพระพุทธเจ้าให้มาเสด็จประทับที่จองพาราเพื่อเป็นสิริมงคล และจะตั้งไปจนครบ 7 วัน เมื่อสิ้นสุดการบูชา ก็จะนำจองพาราไปทิ้งหรือเผา บ้างก็เก็บเอาไว้
บรรยากาศคืนที่ผ่านมาเต็มไปด้วยความสนุกสนาน จากขบวนของแต่ละชุมชนที่เรียกกันว่า “ป๊อก” รวมทั้งหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสถาบันการศึกษา เครื่องดนตรีพื้นบ้านที่ไม่มีการใช้เครื่องขยายเสียง ไม่มีดนตรีสมัยใหม่มาผสม ประกอบกับการแสดงทางวัฒนธรรม เช่น กิงกะหล่า นก โต รวมทั้งการละเล่นและดนตรีพื้นบ้านที่แสดงออกถึงความร่าเริง สนุกสนาน เปี่ยมด้วยความเป็นมิตรไมตรี ต้อนรับผู้มาเยือน
นอกจากนี้ ภายในงานปอยเหลินสิบเอ็ดยังมีกาดพีด (ตลาดมืด-ตลาดยามค่ำ) จำหน่ายอาหารพื้นเมืองทั้งคาวหวาน เครื่องมือเครื่องใช้จากงานหัตถกรรม รวมทั้งสินค้าของที่ระลึกของท้องถิ่นมากมาย