ศูนย์ข่าวศรีราชา - ใกล้ความจริง! โครงการก่อสร้างเตาเผาขยะเกาะล้าน นายกเมืองพัทยา เผยอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาสัญญาว่าจ้างเอกชนของอัยการสูงสุด ระบุหากผ่านพร้อมลงนามจัดจ้างทันที หวังเห็นการแก้ปัญหาขยะเกาะล้านแบบถาวร โดย 3 ปีแรกจะเป็นการกำจัดขยะเก่ากว่า 5 หมื่นตัน
วันนี้ (5 ต.ค.) นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา เผยถึงความคืบหน้าการก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยชุมชนด้วยวิธีเผาทำลายบนพื้นที่เกาะล้าน จ.ชลบุรี แบบครบวงจร หลังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เห็นชอบข้อเสนอโครงการ และได้มีการมอบหมายให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างในระยะเวลา 25 ปี
ขณะที่ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้กำหนดค่าใช้จ่ายและผลตอบแทนทางการเงินในอัตราค่ากำจัดขยะตันละ 1,900 บาทต่อปริมาณขยะ 14,600 ตัน ซึ่งในช่วง 3 ปีแรกจะเป็นการกำจัดขยะเก่ากว่า 5 หมื่นตัน
โดยให้ทำการปรับขึ้นราคาเพิ่ม 10% ในทุก 5 ปี ว่าขณะนี้ในส่วนของการจัดซื้อจัดจ้างได้มีการดำเนินการแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย
และเมืองพัทยาได้ส่งสัญญา รวมทั้งผลการดำเนินการไปยังกระทรวงมาดไทย เพื่อให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาเรื่อง สัญญาว่าเหมาะสมและถูกต้องตามกระบวนการทางกฎหมายหรือไม่ เพื่อให้เกิดความรัดกุมในการทำ Public-Private Partnership หรือ PPP กับเอกชน
ทั้งนี้ หากผ่านความเห็นชอบจากอัยการสูงสุด จะมีการส่งเรื่องกลับมาให้เมืองพัทยาเพื่อเรียกผู้รับจ้างมาลงนามสัญญา ก่อนที่จะมอบพื้นที่ให้ดำเนินการก่อสร้างเตาเผาขยะแบบครบวงจรที่เกาะล้านต่อไป
นายกเมืองพัทยา ยังเผยอีกว่า ปัจจุบันการแก้ไขปัญหาขยะบนเกาะล้าน เมืองพัทยาได้ใช้วิธีการฝังกลบที่บ่อขยะบริเวณทางขึ้นเขานม ใกล้ชายหาดแส โดยได้ใช้แผ่นยาง HPDE ปูรองป้องกันการรั่วซึมเป็นอย่างดี และขณะนี้บ่อขยะยังมีพื้นที่เหลือสำหรับรองรับขยะเพิ่มเติมได้อยู่
“แม้ขณะนี้ขยะจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาพักผ่อนยังเกาะล้านหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่ คลาย แต่การแก้ไขปัญหาขยะในระยะยาวมีความจำที่จะต้องนำเตาเผาขยะแบบครบวงจรมามาใช้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาขยะบนเกาะล้านในอนาคตมีความสมบูรณ์มากขึ้น” นายกเมืองพัทยา กล่าว
ปัจจุบันปริมาณขยะบนพื้นที่เกาะล้านมีจำนวนเฉลี่ยที่ 20-40 ตันต่อวัน แต่หากเป็นในช่วงโลว์ซีซันปริมาณขยะจะมีไม่ถึง 40 ตันต่อวัน จึงทำให้ที่ผ่านมาสภาเมืองพัทยาได้แสดงความกังวลว่าหากปริมาณขยะมีไม่ถึง 40 ตันต่อวันวิธีการคิดค่ากำจัดขยะมูลฝอยจะออกมาในรูปแบบใด