นครพนม - “หมอปลา” เจออีกดอก ทนายอนันต์ชัยตั้งโต๊ะแถลงฟ้องกลับ เหตุกล่าวหาพระเทพวรมุนี เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมโกงค่าก่อสร้างศาลาวัดวัดมรุกขนคร 1 ล้านบาท ชี้พฤติกรรมหมอปลาและทีมทนายความมุ่งแต่จะร้องเรียนเพื่อจะทำลายพระพุทธศาสนาและชื่อเสียงของวัดมรุกขนครและวัดพระธาตุพนม
วันนี้ (23 มิ.ย.) ที่วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม จ.นครพนม นายอนันตชัย ไชยเดช นายเอิ้อ มูลสิงห์ ทนายประจำวัดพระธาตุพนม และพระครูโสภณภาวนานุสิฐ เจ้าอาวาสวัดมรุกขนคร ได้ร่วมกันแถลงข่าว กรณีหมอปลา หรือนายจีรพันธ์ เพชรขาว พาผู้ที่อ้างว่าได้รับความเสียหาย ร้องเรียนพระเทพวรมุนี ไม่จ่ายค่าก่อสร้างศาลาวัดมรุกขนคร ต.ดอนนางหงส์ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม เมื่อครั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดในขณะนั้น
โดยนายอนันตชัยเปิดเผยว่าวัดมรุกขนครได้รับใบอนุญาตให้ก่อตั้งเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2539 แต่ผู้เสียหายอ้างเหตุเกิดราวๆ ปี 2536 ดังนั้นในการทำสัญญาก่อสร้างต่างๆ จึงไม่ใช่หน้าที่ของพระเทพวรมุนี แต่เป็นการว่าจ้างระหว่างกรรมการวัดกับผู้รับเหมากันเอง และต่อมาพบว่างานก่อสร้างเกิดความล่าช้า จึงมีการเลิกจ้างผู้รับเหมาเดิมและหาผู้รับเหมารายใหม่มาสร้างแทน ทั้งหมดเป็นการตัดสินใจของกรรมการวัดในขณะนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับพระเทพวรมุนีแต่อย่างใด อีกประการหนึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นเวลานานแล้ว หากจะนับอายุความของคดีนี้จะมีอายุความ 2 ปี
“แต่นี่ปล่อยให้เวลาล่วงเลยมากว่ายี่สิบปีถึงจะมาร้อง และผมสืบทราบทางลึกมาว่าผู้ที่มาร้องไม่ได้เป็นทายาท หรือญาติของผู้รับเหมาแต่อย่างใด ซึ่งเรื่องนี้ผมและทีมงานเตรียมทำเรื่องฟ้องกลับทีมหมอปลาพร้อมทนายความอย่างแน่นอน ไม่รอบคอบในการร้องเรียน มุ่งแต่จะร้องเรียนเพื่อจะทำลายพระพุทธศาสนาและชื่อเสียงของวัดมรุกขนคร และวัดพระธาตุพนมให้ได้เท่านั้น”
ก่อนหน้านี้ หมอปลา ร่วมกับทนายไพศาล เรืองฤทธิ์ พร้อมพวกที่อ้างว่าได้รับความเสียหาย เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนถึงนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ทำหน้าที่กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยกล่าวหาพระเทพวรมุนี ปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร และพระครูวิสาลสรกิจ ว่าเมื่อครั้งท่านทั้งสองดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมรุกขนคร ได้มีการว่าจ้างผู้รับเหมาให้ก่อสร้างศาลาและแท็งก์น้ำ
และต่อมามีการยกเลิกการก่อสร้าง และค้างค่าจ้างรับเหมางานก่อสร้างอยู่ประมาณ 1 ล้านเศษ ขอให้รัฐมนตรีช่วยสืบสวนและติดตามหนี้ให้ด้วยตามที่เป็นข่าวไปก่อนหน้านี้
ขณะที่นายสมพงษ์ หมวดไธสง ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนครพนม ได้มีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงต่อผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม สรุปได้ว่าวัดมรุกขนครได้รับการตั้งวัดเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนครพนมได้ลงพื้นที่ได้รับทราบข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ของวัดซึ่งเป็นบุคคลเก่าแก่ในพื้นที่ แจ้งว่าวัดมรุกขนคร เดิมมีลักษณะเป็นเหมือนวัดร้าง เป็นที่รกทึบ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2534 พระสงฆ์และชาวบ้านในขณะนั้นช่วยกันพัฒนา สร้างเสนาสนะต่างๆ จนได้รับการตั้งวัดในปี พ.ศ. 2539 ซึ่งในการก่อสร้างทราบว่ามีผู้มีจิตศรัทธาจากกรุงเทพมหานครเป็นผู้รับผิดชอบก่อสร้าง
โดยมีคณะบุคคลจะนำเงินมาให้ผู้ก่อสร้างโดยตรงจนแล้วเสร็จปี 2540 ไม่ปรากฏสัญญาว่าจ้างใด เกี่ยวกับการสร้างถาวรวัตถุและหลักฐานการเบิกจ่ายในการก่อสร้าง
อีกทั้งไม่อาจทราบได้ว่าญาติของผู้ร้องเรียนได้ทำสัญญาว่าจ้างในการก่อสร้างกับวัด หรือทำสัญญาว่าจ้างกับบุคคลใด เนื่องจากวัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2539 ซึ่งผู้ร้องเรียนแจ้งว่าได้ก่อสร้างถาวรวัตถุเมื่อปี พ.ศ. 2536 ในช่วงที่ก่อสร้างสถานที่ก่อสร้างดังกล่าวยังไม่มีสถานะเป็นวัดแต่อย่างใด