xs
xsm
sm
md
lg

น่าใจหาย! “รถคอกหมู” กงไกรลาศ-สุโขทัย เจอโควิดไม่ทันฟื้น-น้ำมันแพงซ้ำ-ขาดคนสืบทอด จ่อปิดตำนานถาวร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สุโขทัย - น่าห่วง..รถโดยสารคอกหมู สายกงไกรลาศ-สุโขทัย เอกลักษณ์ของจังหวัด จ่อปิดตำนาน..เจอโควิดยังไม่ทันฟื้น น้ำมันแพงซ้ำ เจ้าของอายุมากขาดลูกหลานสืบทอด จากเคยมี 32 คัน วันนี้เหลือแค่ 3 ผลัดกันวิ่งคนละวัน วันละ 1 เที่ยว


นางกรองทิพย์ ทองมน อายุ 60 ปี เจ้าของรถโดยสารคอกหมู ชาว ต.บ้านกร่าง อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย บอกว่า ที่บ้านวิ่งรถโดยสารคอกหมู สายกงไกรลาศ-สุโขทัย ตั้งแต่รุ่นพ่อต่อเนื่องกันมานานหลายสิบปีแล้ว แต่หลังเจอวิกฤตโควิด-19 เมื่อปี 2563 จนถึงตอนนี้ยังไม่ทันฟื้นตัว ก็มาเจอวิกฤตน้ำมันแพงซ้ำอีก ประกอบกับคนใช้บริการเหลือน้อย เพราะส่วนใหญ่มีรถส่วนตัวใช้กัน ทำให้ปัจจุบันรถโดยสารคอกหมูที่วิ่งเส้นทางนี้เหลือแค่ 3 คัน จึงต้องผลัดกันวิ่งคนละวัน วันละ 1 เที่ยว โดยออกจาก อ.กงไกรลาศ เข้าตัวเมืองสุโขทัย เวลา 07.00 น. และออกจากสุโขทัยกลับกงไกรลาศ เวลา 10.00 น.

“เมื่อก่อนตรงท่ารถนี้มีรถโดยสารคอกหมูวิ่งกันมากถึง 32 คัน แต่ตอนนี้เหลือ 3 คัน สูญหายไปตามกาลเวลา คนขับบางคนอายุมาก บ้างขับไม่ไหว ไม่มีลูกหลานสืบต่อก็ต้องขายทิ้ง ตัวป้าเองก็เช่นกัน ไม่มีใครสืบต่อ ก็ต้องดูว่าอีก 5 ปีข้างหน้าจะยังไหวกันมั้ย หรือต้องหยุดวิ่ง ปิดตำนานรถคอกหมูแบบถาวร”

นางกรองทิพย์บอกอีกว่า ผู้โดยสารทุกวันนี้จะมีก็แต่อายุ 50 ปีขึ้นไป จนถึง 70-80 ปี และส่วนใหญ่จะเป็นแม่ค้าฝากซื้อของเพื่อเอาไปขาย หรือไม่ก็เป็นผู้สูงอายุนั่งรถเข้าเมืองมาฉีดยาหาหมอ คนหนุ่มสาวสมัยนี้ไม่นั่งกันแล้ว เขามีรถส่วนตัว บางคนนั่งมาตั้งแต่อายุสิบกว่าขวบ ค่าโดยสารยัง 6 สลึง จนอายุ 70 กว่าปี ค่ารถขึ้นเป็น 20 บาท และทุกวันนี้ที่ยังวิ่งอยู่ ก็แค่ประคองตัวเลี้ยงชีพกันไปเท่านั้น

ทั้งนี้ “รถคอกหมู” เอกลักษณ์ของสุโขทัย มีมายาวนานถึง 85 ปี โดยรถโดยสารประจำทาง (คอกหมู) คันแรกของเมืองสุโขทัย เจ้าของคือ “แป๊ะเซี่ยงเชย แซ่โง้ว” เป็นรถที่ใช้วิ่งรับส่งผู้โดยสารระหว่าง อ.เมืองสุโขทัย กับ อ.กงไกรลาศ ปีนั้นประมาณ พ.ศ. 2480 ถนนสิงหวัฒน์เพิ่งจะสร้าง สมัยนั้นยังไม่เรียกรถคอกหมู เพิ่งมาเรียกกันภายหลังตามลักษณะตัวรถ ที่มีไม้กั้นเป็นคอกเหมือนคอกหมู และพูดกันจนติดปาก

ส่วนความเป็นมารถคอกหมู เริ่มจากสมัยก่อนนั้นเคยมีรถโดยสารจากเมืองแพร่ วิ่งรับ-ส่งมาถึงที่ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย โครงตัวถังเป็นไม้สักทรงสี่เหลี่ยมคล้ายคอกหมู แต่มีที่ขึ้นด้านข้าง ชาวบ้านเรียกกันว่ารถคอกหมู ต่อมาจึงถูกใช้เรียกกับรถโดยสารของสุโขทัยด้วย เพราะมีทรงคล้ายคอกหมูเหมือนกัน จนกลายเป็นตำนาน และเป็นที่มาของคำว่า “รถคอกหมู” จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของสุโขทัยไปในที่สุด








กำลังโหลดความคิดเห็น