บุรีรัมย์ - หลายภาคส่วนเร่งจัดเตรียมสถานที่ “งานมหกรรม 360 องศา ปลดล็อคกัญชา ประชาชนได้อะไร” 10-12 มิ.ย.นี้ ที่สนามช้างอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์กิต บุรีรัมย์ คาดมีผู้ร่วมงานหลายหมื่นคน ขณะกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเตรียมขยายพื้นที่ปลูกและพัฒนาสายพันธุ์ วอนรัฐช่วยหาตลาดทั้งในและต่างประเทศรองรับผลผลิตหลังปลดล็อก
วันนี้ (9 มิ.ย.) เจ้าหน้าที่จากหลายภาคส่วนได้เร่งจัดเตรียมสถานที่เพื่อจัดงาน “มหกรรม 360 องศา ปลดล็อคกัญชา ประชาชนได้อะไร” ที่สนามช้างอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์กิต จังหวัดบุรีรัมย์ ในวันที่ 10-12 มิ.ย. 2565 ที่จะถึงนี้ ภายหลังมีการปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 5 ยกเว้นสารสกัดที่มีสาร THC เกินร้อยละ 0.2 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันนี้ (9 มิถุนายน 2565) ซึ่งการจัดงานครั้งนี้เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านกัญชาทางการแพทย์กัญชงเพื่อเศรษฐกิจ และเพื่อเพิ่มการเข้าถึงการให้บริการกัญชาทางการแพทย์แก่ผู้ป่วย รวมถึงสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนในการใช้ประโยชน์จากกัญชาอย่างถูกต้องเหมาะสม
คาดว่าการจัดงานครั้งนี้จะมีผู้มาร่วมงานหลายหมื่นคน ภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเข้มข้นด้วย ซึ่งภายในงานจะมีการเปิดให้ผู้ที่สนใจลงทะเบียนขอปลูกกัญชา และแจกกัญชาจำนวน 1 พันต้น ทั่วประเทศ 1 ล้านต้นด้วย
ขณะที่วิสาหกิจชุมชนที่ได้ขออนุญาตและลงทุนปลูกกัญชง-กัญชาไปก่อนหน้านี้จำนวนหลายกลุ่มในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ ก็เตรียมขยายพื้นที่และปริมาณการปลูกมากขึ้น พร้อมทั้งพัฒนาสายพันธุ์ให้มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาดมากขึ้น เพราะเชื่อว่าหลังจากที่มีการปลดล็อกเปิดเสรีแล้ว จะมีการแข่งขันสูงและผลผลิตก็จะออกสู่ตลาดมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้เป็นปัญหาด้านการตลาดสำหรับกลุ่มวิสาหกิจ แต่เชื่อว่าหากผลผลิตที่ปลูกมีคุณภาพแล้วก็ยังจะสามารถจำหน่ายได้ แต่อยากฝากให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาสนับสนุนเรื่องการจัดหาตลาดทั้งในและต่างประเทศรองรับผลผลิตกัญชง-กัญชาที่จะออกสู่ตลาดภายหลังการปลดล็อกด้วย
นายพยุงศักดิ์ ชาเรืองเดช ประธานวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกพืชผักสมุนไพรและไม้ดอกไม้ประดับตำบลชุมเห็ด อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ บอกว่า เห็นด้วยที่รัฐเปิดกัญชาเสรีเพราะประชาชนจะได้เข้าถึงกัญชา ไม่ว่าจะปลูกเพื่อดูแลสุขภาพตนเอง หรือปลูกเพื่อจำหน่ายสร้างรายได้ในครัวเรือน ซึ่งจะไม่ยุ่งยากเหมือนเมื่อก่อนตอนที่กลุ่มพวกตนยื่นขออนุญาตก่อนหน้านี้ แต่ที่กังวลคือเรื่องตลาดที่จะรองรับผลผลิต โดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ก่อนหน้านี้ต้องลงทุนสร้างโรงเรือน ติดตั้งเครื่องปรับอากาศปรับอุณหภูมิ และอาคารต่างๆ ตามที่สาธารณสุขกำหนด ทำให้มีต้นทุนค่อนข้างสูง แต่พอเปิดเสรีแล้วก็ไม่จำเป็นต้องสร้างโรงเรือนสามารถปลูกแบบเปิดได้
จึงอยากฝากให้ทางภาครัฐได้ช่วยจัดหาตลาดทั้งในและต่างประเทศรองรับผลผลิตกัญชง-กัญชา ที่จะออกสู่ตลาดภายหลังเปิดเสรีด้วย ในส่วนของตนเองปัจจุบันปลูกอยู่ประมาณ 400 ต้น ตอนนี้มีทำเอ็มโอยูกับ รพ.สต. และกรมการแพทย์เพื่อรับช่อดอกไปสกัดยารักษาผู้ป่วย แต่หากเปิดเสรีแล้วก็วางแผนว่าจะขยายพื้นที่และปริมาณการปลูกมากกว่าเดิมเพื่อให้มีรายได้มากขึ้น