xs
xsm
sm
md
lg

ม.มหิดล วิทยาเขตกาญจน์ พบนกกว่า 100 ชนิดรอบมหาวิทยาลัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กาญจนบุรี - ม.มหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี สำรวจพื้นที่โดยรอบมหาวิทยาลัยใน 24 ชม. ตามกิจกรรม Global Big Day พบนกกว่า 100 ชนิด ถือเป็นจังหวัดที่พบชนิดนกมากเป็นอันดับ 4 ของประเทศไทย พร้อมเชิญชวนดูนกพร้อมกันทั่วโลก ผ่าน Application eBird

อาจารย์ ดร.จุฑามาศ สุคนธปฏิภาค อาจารย์ประจำหลักสูตรชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ได้ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา นักศึกษา คณาจารย์ นักวิทยาศาสตร์ รวมทั้ง ศิษย์เก่า หลักสูตรชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ได้ร่วมกันสำรวจนกภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ใน 24 ชั่วโมง ภายใต้กิจกรรม Global Big Day 2022 ที่จัดโดย Application eBird และ Cornell Lab of Ornithology

จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ทำให้การจัดกิจกรรมรายงานการสำรวจนกในปีที่ผ่านมาต้องเว้นระยะ และปี 65 นี้ ได้กลับมาจัดกิจกรรมอีกครั้งหลังจากที่สถานการณ์โรคติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศไทยเริ่มคลี่คลาย โดยกิจกรรม Global Big Day 2022 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเป็นนักวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง (Citizen Science) ด้วยการให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากทั่วโลกสำรวจนกในพื้นที่ของตนภายในวันดังกล่าว แล้วรายงานผลผ่าน Application eBird

จากการรายงานผลโดย Application eBird ผลการสำรวจพบนกในพื้นที่มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ภายในเวลา 24 ชั่วโมง ได้พบนกหลากหลายชนิด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนกประจำถิ่น พบรวมทั้งสิ้น 113 ชนิด โดยถือเป็นพื้นที่ (Top hot spots) พื้นที่จุดสำรวจนก ของมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรีในวันดังกล่าว

มีรายงานการพบนกมากที่สุดเป็นอันดับ 1 และสถิติการสำรวจรายงานผลโดย Application eBird รายงานว่า จังหวัดกาญจนบุรี เป็นจังหวัดที่พบชนิดนกมากเป็นอันดับ 4 ของประเทศไทย

นอกจากนี้ นายธนภัทร กลับชุ่ม นักวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ซึ่งเป็นตัวแทนทีมสำรวจได้กล่าวถึงนกที่น่าสนใจ จำนวน 10 ชนิด ซึ่งมีความน่าสนใจ คือ

1.เหยี่ยวท้องแดง (Rufous-bellied Eagle) เป็นเหยี่ยวหายากที่มีสถานะทางการอนุรักษ์ใกล้ถูกคุกคาม (NT - Near Threatened) พบหากินอยู่ในพื้นที่ป่าดงดิบ และเป็นรายงานแรกๆ ที่พบบินผ่านในพื้นที่มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ที่เป็นพื้นที่ป่าเบญจพรรณ

2.นกโพระดกหูเขียว (Green-eared Barbet) เป็นรายงานแรกที่พบในพื้นที่มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ซึ่งคาดว่าเป็นกลุ่มนกอพยพระยะสั้นเข้ามาอาศัยในฤดูฝน

3.นกกินแมลงกระหม่อมแดง (Chestnut-capped Babbler) เป็นกลุ่มนกที่พบบริเวณไร่ และทุ่งมันสำปะหลังที่มีสีสันสวยงาม

4.นกกะลิง (Gray-headed Parakeet) เป็นกลุ่มนกแก้วที่มีสถานะทางการอนุรักษ์ใกล้ถูกคุกคาม (NT - Near Threatened) พบอาศัยหากินผลผลิตทางการเกษตร เช่น ข้าวโพด และอยู่ร่วมกับชุมชนในพื้นที่

5.นกจู๋เต้นเขาหินปูน (Variable Limestone Babbler) ถือว่าเป็นของดีเมืองกาญจน์ เพราะเป็นนกเฉพาะถิ่นที่พบได้เฉพาะบริเวณที่เป็นป่าบนภูเขาหินปูน

6.เหยี่ยวเพเรกริน (Peregrine Falcon) ชนิดย่อยประจำถิ่น (Falco peregrinus ernesti) ชนิดประจำถิ่นหายากกว่าชนิดอพยพ ในพื้นที่ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี มีรายงานพบเป็นประจำเฉพาะพื้นที่ ปัจจุบันพบ 1 คู่ และคาดว่าเป็นครอบครัวที่อาศัยหากินอยู่ในพื้นที่วิทยาเขตตั้งแต่ปี พ.ศ.2555

7.นกแต้วแล้วธรรมดา (Blue-winged Pitta) หรือนกเจ็ดสี เป็นนกอพยพระยะทางไกล โดยเข้ามาทำรังในฤดูฝนในประเทศไทย และจะอพยพกลับไปหากินในหมู่เกาะประเทศอินโดนีเซียเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว เพราะมีสีสันสวยงามทำให้มักถูกจับไปเป็นนกเลี้ยง

8.นกคัคคูหงอน (Chestnut-winged Cuckoo) เป็นกลุ่มนกคัคคู หรือกาเหว่า เป็นนกอพยพเข้ามาวางไข่ให้นกอื่นเลี้ยงในประเทศไทยในช่วงฤดูฝน และจะอพยพกลับเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว มีเสียงร้องคล้ายแตรรถยนต์ หรือเสียงคนหัวเราะ ที่เป็นเอกลักษณ์

9.นกจาบคาเล็ก (Green Bee-eater) เป็นนกประจำถิ่น แต่ถือว่าหายากมากในมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ในขณะที่พื้นที่เทศบาลวังโพธิ์ อำเภอไทรโยค พบหากินอยู่ในทุ่งโล่งเป็นประจำ

10.นกจาบคาเคราน้ำเงิน (Blue-bearded Bee-eater) เป็นรายงานแรกเมื่อปี 2564 และพบหากินภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี เป็นนกที่มีขนาดใหญ่ ส่วนมากพบในพื้นที่ป่าที่มีความชุ่มชื้น ซึ่งบริเวณทางรถไฟ ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับพื้นที่มหาวิทยาลัย ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่พบนกหากินเป็นประจำ

การจัดเก็บข้อมูลของนกชนิดต่างๆ เหล่านี้เป็นประจำทุกปี จะสามารถนำไปไว้ใช้ในการจัดการด้านการอนุรักษ์ระดับโลกได้ ซึ่งหลักฐานของการพบความหลากชนิดของนกมากกว่า 100 ชนิด ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี จากกิจกรรม Global Big Day ดังกล่าว เป็นตัวชี้วัดหนึ่งของความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า และชุมชนรอบข้างมีส่วนช่วยในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติทั้งทางตรง และทางอ้อม เช่น การไม่ทำลายป่า การไม่ล่าสัตว์ ไม่ยิงนก ซึ่งทำให้นกไม่กลัวคน แตกต่างจากพื้นที่อื่นที่เป็นป่าสมบูรณ์แต่ไร้เสียงร้องของนกในยามเช้า

นอกจากนี้ ระบบนิเวศภายในมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ยังคงมีความหลากหลาย และอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญสำหรับการศึกษาเรียนรู้ทางชีววิทยาให้นักศึกษา นักวิจัย และผู้สนใจตลอดไปอย่างยั่งยืน














กำลังโหลดความคิดเห็น