กาญจนบุรี - สสจ.กาญจนบุรี ย้ำประชาชนให้ความสำคัญสวมหน้ากากอนามัย พร้อมให้ความรู้เรื่องโรคฝีดาษลิง แนะนำเฝ้าระวังป้องกันโรค แต่อย่าตื่นตระหนก
วันนี้ (1 มิ.ย.) นายแพทย์ชาติชาย กิติยานันท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม มีข้อสั่งการต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สั่งการให้แจ้งเตือนไปยังประชาชนให้เห็นถึงความสำคัญในการสวมหน้ากากอนามัย ว่า ยังเป็นพฤติกรรมด้านสาธารณสุขที่ยังมีความสำคัญและจำเป็นอยู่ ยืนยันว่าขณะนี้รัฐบาลไม่มีนโยบายการถอดหน้ากาก พร้อมสั่งสาธารณสุขจับตาโรคฝีดาษลิง แม้ยังไม่พบในประเทศไทย
นายแพทย์ชาติชาย กล่าวต่อว่า ได้มีการเตรียมความพร้อมรองรับมาตรการคลายล็อกเรื่องการสวมหน้ากากอนามัยในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (พื้นที่สีฟ้า) ซึ่งเดิมตามแผนคือนำร่องถอดหน้ากากในพื้นที่ที่มีความพร้อมตามเกณฑ์ คือ มีสถานการณ์ระบาดในระดับต่ำ มีการฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้ตามเกณฑ์ และระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยของสถานพยาบาลในพื้นที่มีความพร้อม รอมติจากที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ อย่างเป็นทางการ ขณะนี้ได้มีข้อสั่งการต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สั่งการให้แจ้งเตือนไปยังประชาชนให้เห็นถึงความสำคัญในการสวมหน้ากากอนามัยว่ายังเป็นพฤติกรรมด้านสาธารณสุขที่ยังมีความสำคัญและจำเป็นอยู่ ยืนยันว่าขณะนี้รัฐบาลไม่มีนโยบายการถอดหน้ากากอนามัย
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรีได้เตรียมความพร้อมวางแผนรองรับโควิด-19 เข้าสู่โรคประจำถิ่น (Endemic Approach) เตรียมมาตรการทางการแพทย์และสาธารณสุขรองรับให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์การติดเชื้อในพื้นที่ของจังหวัดกาญจนบุรี และมีการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคเพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี จากการดำเนินงานตามมาตรการควบคุมโรคได้ดี ส่งผลให้สถานการณ์การพบผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ผลการดำเนินงานการฉีดวัคซีนในกลุ่มเป้าหมายเพิ่มมากขึ้น ผลงานการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทุกกลุ่มประชากรของจังหวัดกาญจนบุรี เข็มที่ 1 จำนวน 567,465 ราย (ร้อยละ 100) เข็มที่ 2 จำนวน 527,452 ราย (ร้อยละ 94.05) และอัตราการใช้เตียงมีการใช้งาน 170 เตียง มีเตียงว่าง 3,857 เตียง
ทั้งนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรีสนับสนุนให้ประชาชนสวมหน้ากาก ตามข้อสั่งการของรัฐบาลเนื่องจากเป็นพฤติกรรมด้านสาธารณสุขที่ยังมีความสำคัญและจำเป็นอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ป่วย กลุ่มเสี่ยง ผู้ที่อยู่ในสถานที่ปิด/อากาศถ่ายเทไม่สะดวก และผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก
นายแพทย์ชาติชาย กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์โรคฝีดาษลิงนั้น ขณะนี้ยังไม่พบการแพร่ระบาดในประเทศไทย พร้อมให้คำแนะนำเฝ้าระวังป้องกันโรค แต่อย่าตื่นตระหนก ข้อมูล ณ วันที่ 30 พฤษภาคม 2565 จากการแถลงข่าวของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กรณีนักท่องเที่ยวจากยุโรปและมีผื่นขึ้นตามร่างกายซึ่งเข้าเกณฑ์ ‘ผู้ป่วยสงสัย’ จำนวน 3 ราย ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่พบไวรัสฝีดาษลิง แต่เป็นไวรัสโรคเริม
และพบนักเดินทางจากยุโรป 1 ราย แวะพักเครื่องที่ไทย 2 ชั่วโมง ก่อนเดินทางไปยังออสเตรเลียแล้ว พบว่า ป่วยเป็นโรคฝีดาษลิงสถานการณ์โรคฝีดาษลิงทั่วโลก ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2565 ที่มีการรายงานผู้ป่วยรายแรกในประเทศที่ไม่ใช่พื้นที่โรคประจำถิ่นของโรคนี้ ขณะนี้พบผู้ป่วยใน 32 ประเทศ มีการรายงานผู้ป่วยทั้งหมด 403 ราย ผู้ป่วยสงสัย 88 ราย โดยประเทศที่มีผู้ป่วยสูง 5 ลำดับแรก ได้แก่ สเปน 120 ราย อังกฤษ 77 ราย โปรตุเกส 49 ราย แคนาดา 26 ราย และเยอรมนี 13 ราย
สำหรับสถานการณ์โรคฝีดาษลิงในประเทศไทย ขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยภายในประเทศ มีการเฝ้าระวังและคัดกรองอย่างเข้มงวดที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สำหรับผู้ที่มีประวัติเดินทางมาจากประเทศเสี่ยงที่มีการรายงานพบผู้ป่วย โดยให้เฝ้าระวังสังเกตอาการจนครบ 21 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเดินทางให้แพทย์ทราบ และรายงานเข้าสู่ระบบ Thailand pass เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในประเทศ
โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) ซึ่งเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน และติดจากคนสู่คนได้ เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae พบได้ในสัตว์หลายชนิดไม่ใช่แค่ลิง พบได้ในสัตว์ตระกูลฟันแทะ เช่น กระต่าย กระรอก หนู และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เป็นต้น
โรคนี้พบมากในประเทศแถบแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก ได้แก่ แคเมอรูน สาธารณรัฐแอฟริกากลาง คองโก กาบอง ไลบีเรีย ไนจีเรีย และเซียร์ราลีโอน และยังพบการแพร่ระบาดไปยังประเทศนอกเขตแอฟริกา เช่น สหรัฐอเมริกา อิสราเอล สิงคโปร์ และสหราชอาณาจักร มักเกิดจากการเดินทางระหว่างประเทศหรือการนำเข้าสัตว์ที่ติดเชื้อ ขณะนี้ต้องเฝ้าระวังใน ประเทศที่มีการระบาด คือ อังกฤษ สเปน และโปรตุเกส
การติดต่อจากสัตว์สู่คนเกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัดข่วน การกินเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อและปรุงสุกไม่เพียงพอ การติดเชื้อจากคนสู่คนเกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัดข่วน การประกอบอาหารจากเนื้อสัตว์ป่า หรือกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ หรืออาจติดทางอ้อมจากการสัมผัสที่นอนของสัตว์ป่วย
การแพร่เชื้อจากคนสู่คนแม้มีโอกาสน้อย แต่อาจเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยผ่านทางสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ ผิวหนังที่เป็นตุ่ม หรืออุปกรณ์ที่มีการปนเปื้อนเชื้อ เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะมีระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน หรืออาจนานถึง 21 วัน โดยอาการเริ่มแรกจะมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต อ่อนเพลีย จากนั้น 1-3 วัน จะมีผื่นขึ้นบริเวณแขนขา ผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง ในระยะสุดท้ายจะเป็นสะเก็ดแล้วหลุดออกมา จะมีอาการป่วยประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้ ซึ่งในประเทศแอฟริกาพบอัตราการเสียชีวิตประมาณร้อยละ 10
การป้องกันควบคุมโรค เริ่มต้นด้วยการป้องกันตนเอง คือ 1) หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือสัตว์ป่า 2) หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ 3) หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์เมื่อสัมผัสกับสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ หรือเดินทางเข้าไปในป่า 4) ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการคัดกรองโรค 5) กรณีมีการเดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที และทำการแยกกักเพื่อมิให้ผู้ป่วยมีการแพร่กระจายเชื้อ
ดังนั้น ขอให้ประชาชนเฝ้าระวังป้องกันโรค แต่อย่าตื่นตระหนก ให้หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์เมื่อสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากสัตว์ พร้อมทั้งรับประทานอาหารที่ปรุงสุกสะอาด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422 นายแพทย์ชาติชาย กล่าว