อุดรธานี - ‘รมช.มนัญญา’ ชูศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอุดรธานีทำวิจัยปาล์มน้ำมันหนุนเศรษฐกิจเกษตร ย้ำงานวิจัยพืชต้องตอบโจทย์การตลาดควบคู่กับงานวิชาการเกษตร ที่สำคัญต้องสนองความต้องการใช้ของประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่เป็นหลัก
วันนี้ (26 พ.ค.) ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอุดรธานี (ศวพ.อุดรธานี) ต.เมืองเพีย อ.กุดจับ จ.อุดรธานี นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงพื้นที่ตรวจติดตามการดำเนินงานของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอุดรธานี (ศวพ.อุดรธานี) สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 กรมวิชาการเกษตร พร้อมด้วย นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร และคณะผู้บริหารในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมี นายจำรัส กังน้อย รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ และเกษตรกร ให้การต้อนรับ
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีนโยบายให้หน่วยงานของกรมวิชาการเกษตรเร่งรัดดำเนินการงานวิจัยเพื่อนำผลงานวิจัยไปพัฒนาการผลิตพืชของเกษตรกร ให้เป็นการผลิตที่ปลอดภัย ไม่มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน และยกระดับสู่การผลิตแบบอินทรีย์ในกลุ่มเกษตรกรที่มีความพร้อม รวมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชให้เกษตรกร อีกทั้งได้มอบนโยบายเน้นย้ำให้งานวิจัยต้องตอบโจทย์ความต้องการใช้ของประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่เป็นหลัก ควบคู่ไปกับการวิจัยและพัฒนาด้านวิชาการของกรมวิชาการเกษตรที่เล็งเห็นว่าในพื้นที่มีพืชใดที่เหมาะสม ให้ผลตอบแทนสูง การป้องกันแมลงศัตรูพืชและปุ๋ยที่เหมาะสมกับชนิดพืชเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับการผลิตไปสู่ตลาดคุณภาพและการส่งออกให้ได้เร็วที่สุด โดยกรมวิชาการเกษตรต้องเป็นพี่เลี้ยงให้ประชาชนเพื่อให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ
สำหรับงานวิจัยที่สำคัญของ ศวพ.อุดรธานี เช่น มันสำปะหลัง อ้อย ปาล์มน้ำมัน ถั่วลิสง และบัวหลวง โดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นพืชสร้างรายได้ให้เกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และบริเวณจังหวัดริมแม่น้ำโขง ซึ่งปัจจุบัน ศวพ.อุดรธานีมีโครงการทดสอบและพัฒนาพืชพลังงานเพื่อผลิตไบโอดีเซลและเอทานอล โดยนำพันธุ์ปาล์มน้ำมันของกรมวิชาการเกษตรทั้ง 6 พันธุ์
คือ พันธุ์สุราษฎร์ธานี 1-6 มาทดสอบปลูกเปรียบเทียบผลผลิต พบว่าให้ผลผลิตดี และในปี 2562-2564 มีการวิจัยและขยายผลนวัตกรรมการผลิตปาล์มน้ำมันด้วยการจัดการที่เหมาะสมยกระดับผลผลิต โดยการจัดการสวนที่เหมาะสมระดับชุมชนตามศักยภาพพื้นที่ดำเนินการใน 1 ชุมชนต้นแบบ 20 แปลงรวม 100 ไร่ โดย ศวพ.อุดรธานีจะแนะนำการปลูกทุกขั้นตอน ส่งผลให้ผลผลิตของเกษตรกรเพิ่มขึ้น
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า นอกจากนี้ ศวพ.อุดรธานียังผลิตพืชพันธุ์ดีของกรมวิชาการเกษตร 2 ชนิด ได้แก่ อ้อยพันธุ์ขอนแก่น 3 และถั่วลิสงพันธุ์ไทนาน 9 และพันธุ์ขอนแก่น 6 กระจายให้เกษตรกรในพื้นที่นำไปปลูกได้เป็นพื้นที่กว่า 900 ไร่ รวมทั้งผลิตชีวภัณฑ์ จำนวน 6 ชนิด เพื่อให้เกษตรกรใช้ทดแทนสารเคมี อย่างไรก็ตาม นอกจากงานวิจัยแล้ว กรมวิชาการเกษตรยังได้มีนโยบายที่จะให้นำสวนยางพารา ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นเข้าโครงการคาร์บอนเครดิต เพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราอีกทางหนึ่ง
เบื้องต้นได้หารือกับ ศวพ.หนองคาย ซึ่งมีพื้นที่ปลูกยางประมาณ 69,588 ไร่ เพื่อหาแนวทางที่จะนำพื้นที่สวนยางพาราในจังหวัดเข้าโครงการดังกล่าว
โอกาสนี้ รมช.มนัญญายังได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมสถานที่จัดงานมหกรรมพืชสวนโลก ณ พื้นที่สาธารณประโยชน์หนองแด อำเภอเมืองอุดรธานี ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตร ร่วมกับจังหวัดอุดรธานี เตรียมการจัดงานดังกล่าว โดยมี นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ให้การต้อนรับ ซึ่งเชื่อมั่นว่าการจัดงานครั้งนี้จะประสบความสำเร็จอย่างดี ทำให้เกิดสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ และจะช่วยสร้างเศรษฐกิจ อาชีพ และรายได้ที่ดีให้แก่ชาวจังหวัดอุดรธานีและจังหวัดข้างเคียง