เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2565 ณ ห้องประชุม ชั้น 13 โรงพยาบาลราชพฤกษ์ ได้จัดบรรยายพิเศษในหัวข้อ "ภาวะการสูญเสียการได้ยิน" รู้เร็ว ฟื้นฟูได้ มี นพ.วสันต์ อภิวัฒนกุล ผู้ช่วยอาวุโสประธานเจ้าหน้าที่บริหารการตลาดต่างประเทศ โรงพยาบาลราชพฤกษ์ ประธานเปิดงาน วิทยากรบรรยายพิเศษ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง พญ.ชมพูนุท ศรีสุขุมชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการได้ยิน และการทรงตัว (โสตประสาท)
แพทย์หญิงชมพูนุท ศรีสุขุมชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านโสตประสาท และการทรงตัว รพ.ราชพฤกษ์ กล่าวว่า อาการได้ยินและการทรงตัวเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่ง ในการดำรงชีวิตประจำวัน เฉพาะอย่างยิ่งในการสื่อสาร และมีภาวะหนึ่งที่เรียกว่า ภาวะการสูญเสียการได้ยิน ซึ่งเป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
สำหรับอาการของการสูญเสียการได้ยิน มักจะมาด้วยหูอื้อ เสียงดังในหู การได้ยินลดลง และบางครั้งอาจจะเป็นญาติที่ว่า คนไข้เปิดทีวีเสียงดัง หรือพูดเสียงดังโดยไม่รู้ตัว
ส่วนสาเหตุอาจจะเกิดจากการติดเชื้อ เช่น แก้วหูทะลุ หรือว่ามีน้ำหนองไหลในหู บางครั้งอาจจะเป็นจากเส้นประสาทหูเสื่อม ซึ่งต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติม ส่วนการตรวจเริ่มจากการตรวจบริเวณภายนอกหูก่อน พวกใบหู ช่องหู และเยื่อแก้วหู ซึ่งถ้าตรวจแล้วปกติดี เราจะต้องได้รับการตรวจการได้ยินเพิ่มเติม
หากตรวจแล้วมีเส้นประสาทผิดปกติ จะมีการฟื้นฟูด้วยการใส่เครื่องช่วยฟัง ซึ่งเครื่องช่วยฟังจะมีหลายประเภท หลักๆ จะมีอยู่ 2 อย่าง คือแบบทัดหลังหู กับแบบอยู่ในช่องหู โดยแพทย์จะเป็นผู้เลือกให้เหมาะสมกับระดับการได้ยินของผู้ป่วยอีกครั้ง
หากใครที่พบเห็นคนในครอบครัว หรือคนใกล้ตัวที่มีอาการผิดปกติเหล่านี้ สามารถแนะนำให้เข้ามาปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านโสตประสาท และการทรงตัวได้ที่ “ศูนย์ตรวจการได้ยิน และการทรงตัว โรงพยาบาลราชพฤกษ์” ศูนย์การได้ยินโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรก และแห่งเดียวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมด้วยทีมแพทย์โสต ศอ นาสิกเฉพาะทางด้านโสตประสาท (Neurotologist) นักแก้ไขการได้ยินในเด็ก (Pediatric Audiologist) และนักแก้ไขการได้ยิน (Audiologist) รวมถึงเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย