xs
xsm
sm
md
lg

ยุควิกฤตข้าวของแพง! ผู้ช่วย ผญบ.ต้องขี่ จยย.รับจ้าง-เข้าเวรหน่วยกู้ชีพ หารายได้เสริมเลี้ยงครอบครัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บุรีรัมย์ - ยุควิกฤตข้าวของแพง ผู้ช่วย ผญบ.วัย 58 ปีที่บุรีรัมย์ ต้องใช้เวลาว่างไปเข้าเวรเป็นหน่วยกู้ชีพ และขับขี่วิน จยย.รับจ้างเพื่อหารายได้เสริมเลี้ยงครอบครัว เพราะค่าตอบแทนตำแหน่งผู้ช่วย ผญบ. ซึ่งเป็นรายได้หลักที่ได้รับเดือนละ 6 พันบาท ไม่เพียงพอใช้จ่ายดูแลภรรยา หลานๆ อีกเกือบ 10 ชีวิต

วันนี้ (1 พ.ค.) นายไสว ธรรมนิยม อายุ 58 ปี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหนองตราด ต.หนองตราด อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ นอกจากจะทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านแล้ว ยังหาเวลาว่างจากการปฏิบัติหน้าที่ไปเข้าเวรเป็นหน่วยกู้ชีพของเทศบาลตำบลหนองตราด และขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างที่วินสถานีรถไฟบุรีรัมย์เพื่อหารายได้เสริมมาเลี้ยงครอบครัว เพราะค่าตอบแทนตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งถือเป็นรายได้หลักที่ได้รับเดือนละ 6,000 บาท ไม่เพียงพอใช้จ่ายในครอบครัวโดยเฉพาะยุคข้าวยากหมากแพง ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน และเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวันต่างปรับราคาสูงขึ้นแทบทุกอย่าง หากรอเพียงค่าตอบแทนตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านอย่างเดียวคงอยู่ไม่รอด อีกทั้งสัปดาห์หน้าหลานๆ ก็จะเปิดเทอมแล้ว ต้องมีเงินสำรองค่าเล่าเรียน และค่าขนมให้หลานๆ ด้วย

นายไสว ธรรมนิยม อายุ 58 ปี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหนองตราด
นายไสว ธรรมนิยม อายุ 58 ปี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหนองตราด บอกว่า ทั้งค่าตอบแทนในตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงเข้าเวรเป็นหน่วยกู้ชีพเทศบาล และขี่วินจักรยานยนต์รับจ้าง ก็จะมีรายได้เฉลี่ยเดือนละประมาณ 12,000 บาท ขณะที่ภาระค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนก็ไม่ต่ำกว่า 10,000 บาทเช่นกัน เพราะนอกจากปากท้องตัวเองกับภรรยาแล้ว ยังต้องดูแลหลานอีก 6 ชีวิตด้วย โดยแต่ละเดือนต้องมีเงินให้หลานไปโรงเรียน จ่ายค่ารถรับ-ส่ง ค่าน้ำ ค่าไฟ ซื้อกับข้าว และค่าใช้จ่ายจิปาถะในครอบครัวอีก รายได้หลักที่ได้รับในแต่ละเดือนคงไม่พอใช้ จึงจำเป็นต้องหาเวลาว่างไปทำอาชีพเสริมเพื่อนำเงินมาเลี้ยงดูคนในครอบครัว แต่ยอมรับว่าบางเดือนก็ยังไม่เพียงพอต้องมีไปหยิบยืมคนอื่นบ้าง พอสิ้นเดือนก็ต้องใช้หนี้เขาคืน

ดังนั้นในภาวะข้าวของแพงแบบนี้นอกจากจะหารายได้เสริมจากหลายๆ ทางแล้ว ต้องมีการวางแผนใช้จ่ายเงินด้วยเช่นกัน เพื่อไม่ให้กระทบความเป็นอยู่ของคนในครอบครัว แต่หากเป็นไปได้ก็อยากให้รัฐบาลได้หามาตรการตรึงราคาสินค้าทุกชนิดที่จะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนเพื่อไม่ให้เดือดร้อนไปมากกว่านี้












กำลังโหลดความคิดเห็น