xs
xsm
sm
md
lg

อนุ กมธ.รัฐวิสาหกิจ เรียกร้อง นายกฯ ชะลอขึ้นราคาดีเซล แนะ ดึง ปตท.แก้วิกฤตพลังงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อนุ กมธ.รัฐวิสาหกิจ เรียกร้อง นายกฯ ชะลอขึ้นราคาดีเซล แนะ ดึง ปตท. แก้วิกฤตพลังงาน ขณะที่เห็นพ้องข้อเสนอสหพันธ์การขนส่งทางบก ให้ปลด “รมว.พลังงาน” หากแก้ปัญหาไม่ได้

วันนี้ (28 เม.ย.) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน คณะที่สอง สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงประเด็นการปรับราคาน้ำมันดีเซลในวันที่ 1 พฤษภาคม ว่า คณะอนุกรรมาธิการ มีความเห็นใจรัฐบาลที่ประสบปัญหาเรื่องวิกฤตพลังงานที่ผ่านมา เนื่องจาก 2 ปัจจัย คือ วิกฤตโควิด-19 ที่เริ่มมีการฟื้นตัวทำให้มีการบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงมากขึ้นและประเด็นที่ 2 คือ ภาวะสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดปัญหาราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขยับตัวสูงขึ้น โดยสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้นคือประชาชนได้รับความเดือดร้อน แต่สิ่งที่รัฐบาลได้ดำเนินการที่ผ่านมาถือว่าเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องแล้วที่ได้พยุงราคาน้ำมันดีเซลซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการขนส่ง โดยการตรึงราคาน้ำมันจะทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ปรับตัวสูงขึ้น และจะได้ลดความเดือดร้อนของประชาชน นอกจากนี้ ที่ผ่านมา รัฐบาลยังได้ใช้กลไกการอุดหนุนกองทุนน้ำมันมาชดเชยทำให้ราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร และใช้นโยบายลดภาษีสรรพสามิต ซึ่งทั้งสองมาตรการสามารถลดความเดือดร้อนของประชาชนจากวิกฤติเศรษฐกิจและวิกฤติโควิด-19 ได้มาก

นายอัครเดช กล่าวต่อว่า แต่ที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการประกาศขึ้นราคาน้ำมันดีเซลช่วงวันที่ 1 พฤษภาคมนั้น ทางคณะอนุกรรมาธิการฯ จึงอยากขอให้นายกรัฐมนตรีได้ทบทวนเรื่องการขึ้นน้ำมันดีเซลอีกครั้ง โดยเสนอให้รัฐบาลใช้กลไกรัฐวิสาหกิจที่มีอยู่ซึ่งก็คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐบาล

“ฉะนั้น จึงขอให้ทางท่านนายกรัฐมนตรีได้ทบทวนชะลอการขึ้นราคาน้ำมันดีเซลไปก่อน โดยขอเสนอให้นายกรัฐมนตรีได้ให้ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้หารือกับ ปตท.เนื่องจากผลการศึกษาของคณะอนุกรรมาธิการฯ พบว่า ปตท.มีต้นทุนแฝงที่ทำให้ ปตท.นั้น ตั้งราคาน้ำมันดีเซลไม่สอดคล้องกับราคาต้นทุนที่แท้จริง โดยมีการบวกค่าขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปจากสิงคโปร์มาที่ไทย และมีการบวกค่าประกันภัยส่วนเพิ่ม รวมถึงที่ผ่านมา ปตท.ไม่เคยชี้แจงต้นทุนการกลั่นน้ำมันที่แท้จริงในไทย ทั้งสามส่วนนี้จึงเป็นส่วนที่สำคัญที่อยากให้นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้รัฐมนตรีพลังงานลงไปดูแล ปตท.” นายอัครเดช กล่าว

นอกจากนี้ คณะอนุกรรมาธิการ เชื่อว่า หากนายกรัฐมนตรีสั่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานไปหารือกับ ปตท. โดยนำกลไกรัฐวิสาหกิจมาใช้แก้ไขปัญหาการขึ้นน้ำมันดีเซลในครั้งนี้ ก็จะสามารถเลื่อนการขึ้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิงได้ จึงขอให้นายกรัฐมนตรีได้รับข้อเสนอของอนุกรรมาธิการ เพื่อลดความเดือดร้อนให้กับประชาชน เพราะหากนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลปล่อยให้มีการขึ้นราคาน้ำมันความเดือดร้อนก็จะไปตกที่ประชาชน และเมื่อราคาน้ำมันปรับขึ้น ราคาสินค้าก็จะปรับขึ้นด้วย ซึ่งจะมีปัญหาตามมาอีกทั้งเรื่องของเงินเฟ้อ ข้าวยากหมากแพง รวมถึงรายได้ของประชาชน

นายอัครเดช ยังกล่าวต่อว่า หากภาครัฐไม่สามารถแก้ไขวิกฤตพลังงานได้ ตนก็เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของสหพันธ์การขนส่งทางบกที่เสนอให้ปลด นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น