ศูนย์ข่าวศรีราชา - ท่าเรือแหลมฉบังโตอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีสถานการณ์สู้รบรัสเซีย-ยูเครน ล่าสุด มีตู้สินค้าที่ผ่านท่าเรือแหลมฉบัง จำนวนกว่า 8.4 ล้านตู้ เพิ่มขึ้นกว่า 10% โดยเฉพาะยอดรถยนต์มีปริมาณผ่านท่า 1 ล้าน 6 หมื่นคัน ขณะนี้เริ่มมีการส่งสินค้าทางรางไปจีนแล้ว คาดว่าภายในปี 68 จะเห็นท่าเทียบเรือแห่งใหม่ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกแห่งหนึ่ง จากการพัฒนาโครงการท่าเรือระยะที่ 3
นายชุนณ์ลพัทธ์ ศรีภาเพลิน ผู้ช่วยผู้อำนวยการกองบริหารงานทั่วไป ท่าเรือแหลมฉบัง เผยถึงสถานการณ์สู้รบรัสเซีย-ยูเครนนั้น ในเบื้องต้นยังไม่ส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้าไปต่างประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถประเมินหรือวิเคราะห์เหตุการณ์ล่วงหน้าได้ โดยในช่วงปีที่ผ่านมา มีตู้สินค้าที่ผ่านท่าเรือแหลมฉบัง จำนวนกว่า 8.4 ล้านตู้ มีปริมาณเพิ่มขึ้นกว่า 10% และเฉพาะยอดรถยนต์มีปริมาณ 1 ล้าน 6 หมื่นคัน เพิ่มสูงขึ้น 22% ซึ่งนำเข้า 5 หมื่นคัน นอกนั้นเป็นการส่งออกทั้งสิ้น และถือว่าเป็นตัวเลขที่ดีมาก
สถานการณ์การสู้รับนั้นยังไม่สามารถประเมินสถานการณ์ได้ จะยืดเยื้ออีกยาวนานเท่าไร จะขยายวงกว้างไปถึงยุโรปไหม ที่สำคัญปัญหาราคาน้ำมันกำลังปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเรื่องนี้มีการพูดคุยกันบ้างแล้ว ถึงการขนส่งสินค้า โดยเฉพาะผลไม้จากภาคตะวันออกจะมีการขนส่งทางราง จากท่าเรือแหลมฉบัง ไปยังหนองคาย และไปยังคุนหมิง ประเทศจีนต่อไป อย่างไรก็ตาม ประเทศจีนมีความเข้มงวดมากในการจะส่งสินค้าเข้าไปในประเทศอย่างมาก เพราะมีการสวมสิทธิ โดยผู้ประกอบการชาวไทยนำทุเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านไปสวมสิทธิเป็นทุเรียนไทย และส่งออกไป ซึ่งเป็นสินค้าด้อยคุณภาพ ทำให้เกิดปัญหาอย่างที่ผ่านมา
สำหรับการขนส่งสินค้าทางท่าเทียบเรือชายฝั่งเริ่มดีขึ้น เนื่องจากการขนส่งทางรางรถไฟ และทางเรือจะถูกกว่าการขนส่งทางบกอย่างแน่นอน และขณะนี้ผู้ประกอบธุรกิจรถขนส่งสินค้าทางบกด้วยรถบรรทุกกำลังได้รับผลกระทบ เพราะราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้รัฐบาลจะประกันราคาน้ำมันดีเซล แล้วก็ยังหนัก ที่สำคัญจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไรวัสโควิด-19 ทำให้ไม่ได้รับการขนถ่ายสินค้าอะไร วิ่งมารับสินค้าที่ท่าเรือแหลมฉบัง ทำให้มีการตัดราคากันเอง
นายชุนณ์ลพัทธ์ กล่าวอีกว่า ในปีแรกของงบประมาณนี้ปริมาณตู้สินค้าจะมีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ส่วนปัญหาของผู้ประกอบการท่าเรือต่างๆ ที่มีเสียงสะท้อนนั้น เนื่องจากปัญหาการจราจรที่ติดขัดภายในท่าเรือ แต่อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการภายในท่าเรือ ซึ่งต้องกำหนดรูปแบบให้ชัดเจน เช่น เรือสินค้าขนาดใหญ่ที่เข้ามานั้น โดยต้องมีการเตรียมการและวางแผน คือ ต้องกำหนดช่วงเวลาในการคืนตู้ ช่วงรถที่จะเข้ามารับตู้ ซึ่งหากไม่มีการวางแผนจะเกิดปัญหาทันที แต่ถ้าเรือเข้าตามปกติ ปัญหาต่างๆ จะไม่เกิดขึ้น โดยจะเป็นเฉพาะบางช่วงเท่านั้น ทำให้เครื่องมือหรืออุปกรณ์มีไม่เพียงพอ นอกจากนั้น มีปัญหาด้านการเกิดอุบัติเหตุบ้างเท่านั้น
ขณะนี้มีการวางระบบ เช่น สมาร์ทพอร์ต โดยการนำข้อมูลทั้งหมดมาควบรวมไว้เพียงหน่วยงานเดียว โดยหน่วยงานไหน หรือหน่วยงานใดต้องการข้อมูลดังกล่าวก็มาขอไป และในอนาคตบริเวณหอสูงจะเป็นสถานที่จัดตั้ง “ทักเทอร์มินอล” เพื่อให้รถหัวลากเข้ามาพักผ่อนก่อนจะเข้าไปเทียบท่า และเมื่อถึงคิวในการรับตู้สินค้าถึงเข้าไป โดยไม่ต้องเข้าไปแออัดในท่าเทียบเรือต่างๆ
อย่างไรก็ตาม สำหรับท่าเรือแหลมฉบัง เปิดให้บริการมาแล้วเป็นเวลา 31 ปี จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ซึ่งถือว่าเป็นองค์กรที่แข็งแรงมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ที่เริ่มดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าภายในปี พ.ศ.2568 จะได้เห็นท่าเรือเทียบเรือแห่งใหม่ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกแห่งหนึ่ง ที่มีท่าเรือความลึก 18.5 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง และแอ่งท่าเรือกว้าง 920 เมตร