xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ เปิดตัว "ค่างแว่นถิ่นใต้" มาสคอต สัญลักษณ์ส่งเสริมท่องเที่ยวประจวบฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประจวบคีรีขันธ์ - ชู “ค่างแว่นถิ่นใต้” สัตว์ประจำถิ่นประจวบคีรีขันธ์ เป็นมาสคอต หรือทูตน้อยส่งเสริมการท่องเที่ยว หวังสร้างเอกลักษณ์โดดเด่น เชื่อมโยงอุปนิสัย เป็นมิตร ซุกซน ขี้อาย เข้ากับชาวประจวบคีรีขันธ์ เปิดตัวครั้งแรกในงาน ท่องเที่ยวประจวบคีรีขันธ์ มหัศจรรย์เมืองสามอ่าว

วันนี้ (31 มี.ค.) นายเสถียร เจริญเหรียญ ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาท่องเที่ยวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ผ่านมา ได้มีการหารือเรื่องแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในจังหวัดทั้ง 8 อำเภอ ตั้งแต่อำเภอหัวหิน ถึงบางสะพานน้อย เนื่องจากตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา การท่องเที่ยวต้องซบเซาลงเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ขณะนี้ประเทศไทยมีการรับมืออย่างดี ทั้งระบบสาธารณสุข และการรณรงค์ให้ประชาชนมารับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด และลดความรุนแรงของโรค ทำให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติมากขึ้น เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้น


ทั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาการท่องเที่ยวคือ การสร้างเอกลักษณ์ของจังหวัดให้ชัดเจน โดดเด่นเป็นที่น่าจดจำ ดังนั้น มองว่าจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ น่าจะมีทูตการท่องเที่ยว สัตว์สัญลักษณ์หรือสัตว์นำโชคประจำจังหวัด ซึ่งคณะกรรมการได้คัดเลือกเอา “ค่างแว่นถิ่นใต้” ซึ่งเป็นสัตว์ที่พบเห็นได้ง่าย มีถิ่นอาศัยอยู่ในหลายพื้นที่ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เช่น ถ้ำไทร ถ้ำพระยานคร หาดสามพระยา อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด เขาล้อมหมวก ในกองบิน 5

“ค่างแว่นถิ่นใต้” พบได้ทั่วไปในพื้นที่หลายแบบ ตั้งแต่ภูเขาสูงจนถึงป่าริมชายฝั่ง และเกาะ ชอบอาศัยในป่าที่มีต้นไม้ใหญ่ ซึ่งเป็นลักษณะภูมิศาสตร์โดยทั่วไปของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีอุปนิสัยที่โดดเด่นคือ เป็นมิตร ซุกซน และขี้อาย ตรงกับลักษณะนิสัยของชาวประจวบฯ ที่มีความเป็นมิตร ความซุกซนที่เปรียบได้ว่า จ.ประจวบคีรีขันธ์มีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย ทั้งทะเล ภูเขา และความขี้อาย ที่สื่อถึงยังมีแหล่งท่องเที่ยวอีกหลายแห่งที่ยังไม่ได้รับการโปรโมตให้เป็นที่รู้จัก ทำให้การเชื่อมโยงระหว่าง “ค่างแว่นถิ่นใต้” และจังหวัดประจวบฯ เหมาะสมลงตัว


ขณะนี้ได้มีการออกแบบเพื่อเป็นต้นแบบในเบื้องต้นก่อน เป็นตัวการ์ตูนค่างแว่น ใส่เสื้อฮาวายลายสับปะรด ผลไม้ประจำจังหวัด ในอิริยาบถเล่นกีฬาทางน้ำ สื่อถึงจังหวัดประจวบฯ ที่มีชายหาดทอดตัวยาวทุกอำเภอกว่า 200 กิโลเมตร และเรียกว่า “น้องค่างแว่น” ไปก่อน เนื่องจากยังไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการ โดยจะมีการนำน้องค่างแว่น ทูตน้อยมาแนะนำตัวให้ชาวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์รู้จักเป็นครั้งแรกในงานท่องเที่ยวประจวบคีรีขันธ์ มหัศจรรย์เมืองสามอ่าว และงานกาชาดประจำปี 2565 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-10 เม.ย.นี้

นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดมีส่วนร่วมของชาวประจวบคีรีขันธ์ หลังจากนี้จะมีการประกวดออกแบบ และตั้งชื่อค่างแว่นถิ่นใต้ สัตว์สัญลักษณ์ ทูตการท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการ ซึ่งคณะกรรมการจะพิจารณาคัดเลือกแบบที่เหมาะสม 5-6 แบบ มาให้ชาวประจวบฯ โหวตลงคะแนนเลือกตามช่องทางออนไลน์ หรือเว็บไซต์ รวมทั้งจะนำแบบที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการในรอบแรกไปประชาสัมพันธ์ตามสถานศึกษาภายในจังหวัดเพื่อให้เด็กๆ และเยาวชนได้ช่วยกันเลือกด้วย


“ค่างแว่นถิ่นใต้” เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำพวกค่าง มีลักษณะเด่นคือ มีวงสีขาวรอบดวงตา ขาและหางมีสีอ่อนกว่าส่วนหลัง ค่างแว่นถิ่นใต้ มีความหลากหลายของสีขนมาก โดยขึ้นกับฤดูกาลและตัวของค่างเอง ส่วนบนจะมีสีเข้มเทาและน้ำตาล ขาและหางสีอ่อนกว่าส่วนอื่น สีขนที่หลังมีสีอ่อนกว่าส่วนข้าง ผิวหนังใต้ขนเป็นสีเทาเข้ม ส่วนวงแหวนสีขาวรอบดวงตาจะเด่นชัดกว่าค่างชนิดอื่น ค่างแว่นที่อายุน้อยจะมีสีขนสีเหลืองทอง พบได้ทั่วไปในพื้นที่หลายแบบตั้งแต่ภูเขาสูงจนถึงป่าริมชายฝั่ง และเกาะ ชอบอาศัยในป่าที่มีต้นไม้ใหญ่ อาหารที่ค่างแว่นชอบคือใบไม้และยอดอ่อน ค่างชนิดนี้ไม่ชินกับมนุษย์ ขี้อาย และมักหนีเมื่อถูกมนุษย์รบกวน ค่างที่มีอายุมากกว่าจะนอนบนกิ่งไม้เพื่อระวังอันตราย โดยทั่วไปค่างแว่นจะส่งเสียงได้หลากหลาย มีระบบการส่งเสียงค่อนข้างซับซ้อน




กำลังโหลดความคิดเห็น