ฉะเชิงเทรา - อานิสงส์ชาวนาเมืองแปดริ้วงดใช้สารเคมีและยากำจัดศัตรูพืชในนาข้าวหลังราคาพุ่งต่อเนื่อง ทำลำคลองธรรมชาติได้กลับมามีหอยขมจำนวนมากอีกครั้ง ขณะเดียวกัน ยังได้ฟื้นอาชีพจับหอยขายสร้างรายได้ช่วงเศรษฐกิจฝืดเคือง
วันนี้ (28 มี.ค.) ชาวบ้านในพื้นที่ ม.7 ต.บางเตย อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ได้พากันออกมาวางยอและลงทุ่นล้อยางเพื่อดักจับหอยขม หรือ “หอยจุ๊บ” ภายในคลองแขวงกลั่น กันเป็นจำนวนมาก หลังพบว่าในขณะนี้ลำคลองเกือบทุกสายเริ่มกลับมามีประชากรหอยขมที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติอีกครั้ง หลังในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประชากรหอยขมได้พากันสูญหายไปจากผลกระทบการใช้สารเคมีและยาปราบศัตรูพืชในไร่นาของเกษตรกร
แต่หลังจากที่ราคายาปราบศัตรูพืชโดยเฉพาะสารเคมีที่ใช้ในการทำนาเริ่มมีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ จากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้เกษตรกรต้องหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตขึ้นเองเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย
นายชูเกียรติ มีเจริญ อายุ 57 ปี ซึ่งเป็น 1 ในชาวบ้านที่ออกจับหอยบอกว่า ขณะนี้ลำคลองหลายแห่งใน จ.ฉะเชิงเทรา เริ่มกลับมามีหอยขมซึ่งเป็นหอยน้ำจืดประจำท้องถิ่นที่เดิมเคยมีอยู่ตามธรรมชาติเป็นจำนวนมาก แต่หลังจากที่ชาวบ้านซึ่งประกอบอาชีพทำนาหันมาใช้ยากำจัดศัตรูพืชและยากำจัดหอยในนาข้าว จึงทำให้ปริมาณหอยลดน้อยลง
แต่ในวันนี้ราคายากำจัดศัตรูพืชและหอยมีราคาขยับสูงขึ้นมากจนชาวนาไม่มีเงินซื้อ จึงหันมาดูแลแปลงนาตามระบบธรรมชาติจนส่งผลดีต่อสภาพแวดล้อม และระบบนิเวศ โดยเฉพาะแหล่งน้ำลำคลองในพื้นที่ที่ได้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง
สำหรับวิธีการจับหอยขมของชาวบ้านในปัจจุบันจะไม่ใช้วิธีงมหอยตามหน้าดินเหมือนในอดีตที่มีโอกาสถูกปลิงกัดได้ง่าย แต่ได้หันมาใช้วิธีการวางยอ และยกยอประมาณ 2-3 วันต่อครั้ง ขณะที่ชาวบ้านบางส่วนจะทำทุ่นจากขวดน้ำพลาสติกนำมาผูกเชือกกับล้อยางรถยนต์ หรือยางรถจักรยานยนต์ ก่อนจะนำไปหย่อนลงใต้น้ำทิ้งไว้ประมาณ 1-2 วัน จะมีหอยขมจำนวนมากเข้ามาเกาะ
ขณะที่ชาวบ้านบางรายเลือกใช้ท่อนไม้ปักลงไปในน้ำ ทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วันจะมีหอยเข้ามาเกาะอยู่เช่นเดียวกัน วันนี้ชาวบ้านในพื้นที่จึงพากันออกมาจับหอยขม เพื่อนำกลับไปทำอาหารรับประทานในครัวเรือน บางรายเมื่อจับได้ในปริมาณมากก็แบ่งออกขายสร้างรายได้เสริมเข้าสู่ครอบครัว
“ในแต่ละวันลำคลองจะมีหอยตัวอ่อนเกิดขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก แต่ชาวบ้านจะงดเว้นการจับหอยเป็นเวลา 1 วัน คือ วันโกน ส่วนราคาหอยขมที่ขายตามท้องตลาดขณะนี้อยู่ที่กิโลกรัมละ 70 บาท แต่หากชาวบ้านได้ทำการตัดปลายก้นหอยแล้วราคาขายจะสูงขึ้นไปอีก”
นายชูเกียรติ ยังบอกอีกว่า ในอดีตหอยขม มีราคาแค่เพียงกิโลกรัมละ 10-20 บาทเท่านั้น ส่วนเมนูยอดนิยมที่ชาวบ้านมักนำกลับไปปรุงเป็นอาหารคือ แกงคั่วใบชะอม แกงใบชะพลู ผัดใบโหระพา และหอยขมลวกจิ้ม