xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายสุขภาพเผย “ทุกข์ของคนเชียงใหม่ที่ติดโควิด” ชี้ระบบบกพร่องทำเคสตกค้างเพียบ-อยากได้ “ฟาวิฯ” ต้องควักเงินจ่ายเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงใหม่ - เครือข่ายและอาสาสมัครทำงานด้านสุขภาพภาคประชาชนตั้งโต๊ะเผย “ทุกข์ของคนเชียงใหม่ที่ติดโควิด” ชี้ต้นตอจากระบบสาธารณสุขที่มีข้อบกพร่องเพียบ พบผู้ติดเชื้อจำนวนมากตกค้างไม่ได้เข้าสู่ระบบการรักษา ทั้งๆ ที่ติดต่อ จนท.ทุกช่องทางแล้ว แต่กลับต้องกักตัวรอนานนับสัปดาห์ โดยไม่ได้รับยา อาหาร และคำแนะนำ ขณะที่ รพ.ไม่ยอมจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ให้ อ้างรักษาตามอาการที่ไม่รุนแรง แต่ถ้ามีเงินจ่ายพร้อมเอาให้ทันที แถมยังหาซื้อได้ตามคลินิกเอกชนด้วย พร้อมกันนี้ระบุการรายงานข้อมูลผู้ติดเชื้อรายวันของเชียงใหม่ไม่สะท้อนสถานการณ์จริงที่รุนแรง โดยเลี่ยงนับตัวเลขเฉพาะการตรวจ RT-PCR


รายงานจากจังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่โรงเรียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มโควิดทีมภาคเหนือ (Covid Team North - CTN) ที่ประกอบด้วยเครือข่ายและอาสาสมัครทำงานด้านสุขภาพภาคประชาชน นำโดยนางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา ประธานสมัชชาสุขภาพจังหวัด, นายนิวัตร สุวรรณพัฒนา นักวิชาการกลุ่มโควิดทีมภาคเหนือ, นายนันทชาติ หนูแก้ว มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย, นางรจนา ยี่บัว ศูนย์คุ้มครองผู้บริโภค และนางอัจฉราพร ชนะเลิศ ประธานอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุในชุมชน ร่วมกันแถลงข่าวนำเสนอข้อมูลประเด็น “ทุกข์ของคนเชียงใหม่ที่ติดโควิด” พร้อมข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหา

ทั้งนี้ มีการเปิดเผยข้อมูลว่าทุกวันนี้จังหวัดเชียงใหม่มีผู้ติดเชื้อที่พบจากการตรวจ ATK เป็นจำนวนมากที่จะขอเข้าสู่ระบบการรักษาผ่านทางช่องทางติดต่อที่หน่วยงานสาธารณสุขและหน่วยงานเกี่ยวข้องแจ้งไว้ แต่ได้รับแจ้งเพียงว่าให้กักตัวและรอเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับเท่านั้น โดยที่ระหว่างรอไม่ได้รับยา, อาหาร และคำแนะนำใดๆ เลย ซึ่งผู้ติดเชื้อ 1 รายมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงอย่างน้อย 2 ราย และผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ในตัวเมืองพบว่าเป็นคนหาเช้ากินค่ำและพักอาศัยอยู่หอพักหรือห้องเช่า ไม่เหมาะสมสำหรับการกักตัวเลย แต่ต้องรอ 3-4 วันกว่าจะได้รับการติดต่อ ทำให้เกิดปัญหาตามมาทั้งชีวิตความเป็นอยู่ อาหารการกิน หนี้สิน ขาดรายได้ และไม่ได้กักตัวอย่างถูกวิธี ทำให้เชื้อยิ่งแพร่กระจายวงกว้าง โดยเบื้องต้นจากการเข้าไปช่วยเหลือผู้ติดเชื้อในเขตตัวเมืองเชียงใหม่พบว่ามีเคสผู้ติดเชื้อที่ตกค้างรอเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับไม่ต่ำกว่า 1,000 ราย


ขณะเดียวกันพบด้วยว่าในกรณีที่ประชาชนตรวจพบการติดเชื้อจาก ATK แล้ว ประสงค์ที่จะขอรับการตรวจยืนยันด้วยวิธีการ RT-PCR กลับถูกปฏิเสธจากทางโรงพยาบาล ยกเว้นจะยอมเสียค่าใช้จ่ายเอง ทั้งๆ ที่เป็นสิทธิที่ประชาชนควรจะได้รับบริการฟรี และยังพบอีกว่าเดิมเมื่อตรวจพบติดเชื้อโควิด-19 ผู้ป่วยจะได้รับยารักษาเป็นยาฟาวิพิราเวียร์ทุกราย จนผู้ติดเชื้อและคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าถ้าติดเชื้อแล้วจะต้องได้รับยาฟาวิพิราเวียร์เสมอ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเมื่อตรวจพบว่าเป็นผู้ติดเชื้อและได้เข้าสู่ระบบการรักษาแล้ว หากไม่มีอาการรุนแรง ทางโรงพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะจ่ายยารักษาให้เป็นยาฟ้าทะลายโจรหรือยารักษาตามอาการเท่านั้น ทำให้ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดความไม่เชื่อมั่น และต้องดิ้นรนหายาฟาวิพิราเวียร์มารักษาด้วยตัวเอง ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใดจะจ่ายเงินซื้อด้วยตัวเอง ทางโรงพยาบาลกลับพร้อมจ่ายยาให้ทันที และผู้ติดเชื้อหลายรายสามารถไปหาซื้อยานี้ได้ด้วยตัวเองตามคลินิกเอกชนทั้งที่เป็นยาควบคุม

นอกจากนี้ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การที่จังหวัดเชียงใหม่รายงานข้อมูลสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในแต่ละวัน โดยรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนเฉลี่ยในรอบ 14 วัน รวมทั้งมีการแยกเป็นผู้ติดเชื้อยืนยันจากการตรวจ RT-PCR และผู้ติดเชื้อเข้าข่ายจากการตรวจ ATK ไม่ได้เป็นการสะท้อนให้เห็นสถานการณ์การแพร่ระบาดตามความเป็นจริงเลย เพราะตรวจ ATK ผลบวกก็คือผู้ติดเชื้อที่ต้องเข้าสู่ระบบการรักษาเหมือนกัน แต่ดูคล้ายมีเจตนาทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวันมีน้อย โดยนับเฉพาะผู้ติดเชื้อยืนยันจากการตรวจ RT-PCR เพื่อกลบเกลื่อนความจริงและทำเหมือนสถานการณ์ไม่รุนแรง ซึ่งสอดคล้องกับการที่มีการปฏิเสธจะให้ประชาชนตรวจ RT-PCR ยืนยัน หลังจากที่ตรวจ ATK พบผลเป็นบวก พร้อมกันนี้พบด้วยว่ามีการผลักดันให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รับการรักษาแบบ HI และ CI ทั้งที่เป็นผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด แต่กลับอ้างเหตุผลว่าเชื้อโอมิครอนติดแล้วอาการไม่รุนแรง ซึ่งไม่ถูกต้อง ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นและข้อมูลทั้งหมดนี้ทางเครือข่ายฯ มองว่าน่าจะเป็นภาพสะท้อนระบบการบริหารจัดการที่มีความบกพร่องของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบและเกิดความสับสน


ทั้งนี้ ทางกลุ่มโควิดทีมภาคเหนือ (Covid Team North - CTN) มีข้อเสนอแนะและข้อเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งปลดทุกข์ของคนเชียงใหม่ที่ติดโควิด-19 โดยขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ หรือนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่จัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาประชาชนเรื่องโควิด-19 โดยบูรณาการหน่วยงานที่มีหน้าที่สื่อสารความเสี่ยง ความรู้ความเข้าใจเรื่องการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิด-19 การอัปเดตข้อมูลมาตรการ แนวทางต่างๆ เพื่อลดความสับสน และเป็นศูนย์กลางข้อมูลชุดเดียวกัน การให้ข้อมูลเรื่องสิทธิในการรับบริการรักษาต่างๆ บทบาทหน้าที่ของโรงพยาบาลที่ดูแลประชากรตามสิทธิต่างๆ โดยเฉพาะประกันสังคม บัตรทอง และข้าราชการ พร้อมกับขอให้ช่วยประชาชนลดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็น ทั้งจากการที่โรงพยาบาลไม่จ่ายยาตามอาการทำให้ประชาชนต้องซื้อเองแม้ไปรับบริการที่โรงพยาบาลตามสิทธิแล้ว และการยกเลิกตรวจ ATK โดยไม่จำเป็นหรือไม่สมเหตุสมผล ด้วยการสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจว่าช่วงเวลาที่สมควรตรวจ วันที่ 5 กับวันที่ 10 ของการสัมผัสเชื้อ ไม่ใช่ตรวจทุกวัน

นอกจากนี้ขอให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดดำเนินการให้ทุกโรงพยาบาลในเขตอำเภอเมือง เขตเทศบาลนครเชียงใหม่มีระบบให้บริการทางออนไลน์ ทางโทรศัพท์ สำหรับคนที่อาการไม่มาก การมีช่องทางรับยาแบบแยกต่างหากสามารถไปถึงรับยากลับบ้านได้ทันที ให้หน่วยงานคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคของจังหวัดดำเนินการเชิงรุกเพื่อดูแลประชาชนผู้ซื้อประกันสุขภาพโควิด-19 ให้มีที่ปรึกษา มีการกำกับติดตามบริษัทประกัน การให้ข้อมูลสื่อสารต่อเนื่องผ่านศูนย์ให้คำปรึกษาประชาชน รวมถึงการรับเรื่องร้องเรียน ติดตามดูแลผู้ได้รับความทุกข์ความเสียหายจากระบบประกันโควิด-19

ในส่วนสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ขอให้กำกับควบคุมราคาค่าตรวจ RT-PCR ค่าใบรับรองแพทย์ ให้เป็นราคามาตรฐานเดียวกัน ขณะที่เทศบาลนครฯ องค์การบริหารส่วนจังหวัด สนับสนุนผู้นำชุมชนให้สามารถจัดเตรียมชุมชน สร้างความเข้าใจต่อประชาชนในชุมชนที่ต้องอยู่ร่วมกับโควิด-19 ได้อย่างเข้าใจจริงจัง จัดหาพื้นที่ในชุมชนสำหรับกลุ่มคนที่ไม่สามารถดูแลตนเองในการกักตัวได้ ประสานงานกับวัด หน่วยงานรัฐ หน่วยงานท้องถิ่น เพื่อทำงานร่วมกันเพื่อการเข้าถึงการบริการสาธารณสุขที่เท่าเทียมมีประสิทธิภาพเกิดประสิทธิผล ซึ่งจะไม่เป็นเพียงการขอความร่วมมือจากประชาชนแล้วปล่อยให้เผชิญปัญหาแบกรับภาระต่างๆ เหมือนที่เป็นอยู่











กำลังโหลดความคิดเห็น