กาญจนบุรี - ศูนย์ศึกษาฯเขาน้ำพุ จับมือ ม.มหิดลฯ ผลักดันโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่ออนุรักษ์วัวแดง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ต่อยอดเป็นแหล่งเรียนรู้ และท่องเที่ยวในอนาคต
วันนี้ (24 มี.ค.) นายเสรี นาคบุญ หัวหน้าศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ ต.ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์วัวแดงในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เป็นโครงการศึกษาวิจัย และเป็นโครงการใหม่ที่ไม่เคยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อมเพื่อดำเนินกิจกรรมมาก่อน โครงการนี้จะเป็นโครงการพัฒนาการด้านการส่งเสริมสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนรอบพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระในการอนุรักษ์การจัดการทรัพยากรสัตว์ป่า โดยผ่านกระบวนการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายในการปกป้อง คุ้มครอง และฟื้นฟู เพื่อการปกป้อง คุ้มครอง และฟื้นฟูพื้นที่อนุรักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำ ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า
โดยมี รศ.ดร.รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ร่วมกับศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ ต.ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการ
ความเป็นมาและพื้นฐานการดำเนินงานที่ผ่านมาในพื้นที่โครงการ การดำเนินการอนุรักษ์วัวแดงในประเทศไทย ประชากรวัวแดงในประเทศไทยเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่แต่ขาดการศึกษาประชากรอย่างเป็นทางการ จึงต้องทำการสำรวจอย่างเป็นระบบเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อใช้ในการจัดการที่เหมาะสม
นอกจากนี้ ทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระที่วัวแดงได้สูญพันธุ์ไปแล้ว จากการให้สัมปทานป่าไม้และการล่าสัตว์ป่า แต่ทางศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ ได้เลี้ยงวัวแดงไว้จำนวนหนึ่ง ต่อมา ปี พ.ศ.2553 ทางศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ จึงได้ริเริ่มจัดทำโครงการปล่อยวัวแดงคืนสู่ธรรมชาติครั้งแรกของโลก ภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชนและองค์กรต่างๆ เพื่อการศึกษา วิจัย ปกป้อง คุ้มครอง ขยายพันธุ์และประชาสัมพันธ์โครงการ
และได้เริ่มปล่อยวัวแดงครั้งแรกในปี พ.ศ.2557 จนถึงปัจจุบันได้ปล่อยวัวแดงไปแล้ว 13 ตัว ซึ่งทุกตัวเจริญเติบโตได้ดี และจากการติดตามโดยใช้กล้องดักถ่ายและวิทยุติดตามตัวสัตว์ป่า พบว่า การพัฒนาของร่างกาย การใช้พื้นที่อาหาร และการสืบพันธุ์สมบูรณ์ดี โดยในช่วง 4 ปี ระหว่าง พ.ศ.2559-2562 พบลูกวัวแดงเกิดใหม่อย่างน้อย 11 ตัว จึงต้องมีการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์วัวแดงทั้งในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ และในพื้นที่อื่น
โดยการสร้างกลุ่มอาสาสมัคร จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ การจัดทำแผนและคู่มือ การเก็บข้อมูล การวิจัย และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้เป็นไปตามแผนการจัดการปกป้องคุ้มครองชนิดพันธุ์ในประเทศไทย โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.2560 ก) และให้เชื่อมโยงกับพื้นที่ป่าชุมชน ภายใต้โครงการส่งเสริมศักยภาพและการมีส่วนร่วมของเครือข่ายปุ่มชน
จ.กาญจนบุรี ดำเนินโครงการในปี พ.ศ.2564 ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมในการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน และผลักดันให้ศูนย์เรียนรู้การอนุรักษ์วัวแดง เป็นแหล่งรวบรวม เรียนรู้ สืบค้น อ้างอิง ศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับวัวแดงแบบครบวงจร โดยการบูรณาการกับทางชุมชน อำเภอ และจังหวัด ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เพื่อการท่องเที่ยวเรียนรู้ และทำกิจกรรมการอนุรักษ์วัวแดงผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชนผ่านเส้นทางการท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวหลักของจังหวัด และยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ที่จะมีการขยายผลไปสู่ระดับประเทศในอนาคต
นายเสรี นาคบุญ หัวหน้าศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ กล่าวว่า ที่ผ่านมาโครงการมีความสำเร็จในการปล่อยวัวแดงคืนสู่ธรรมชาติ จำนวน 13 ตัว ซึ่งสามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมในธรรมชาติได้ดี และให้กำเนิดลูกและหลานในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ โดยไม่พบการลักลอบล่า เพราะชุมชนช่วยกันปกป้องและให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์กับทางศูนย์เขาน้ำพุ ที่เป็นผู้ดำเนินโครงการ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระที่เป็นเจ้าของพื้นที่
ขณะที่ศูนย์เขาน้ำพุ ได้กลายมาเป็นศูนย์เรียนรู้การอนุรักษ์วัวแดงในการเพาะเลี้ยง เตรียมการ และฝึกก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ และเป็นแหล่งรวมอาสาสมัครทั้งในชุมชนและต่างพื้นที่ จนเกิดการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ติดตามความก้าวหน้า ความเป็นไปของการอนุรักษ์วัวแดง ที่ผ่านมาได้รับงบประมาณไม่แน่นอน ดังนั้น เพื่อให้โครงการดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน จึงต้องได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานเบื้องต้นในระยะที่ 1 เป็นเวลา 3 ปี เพื่อให้โครงการเกิดความต่อเนื่องและของบประมาณสนับสนุนได้ทันในระยะต่อไป
ทางโครงการได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อม เพื่อขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์วัวแดงในพื้นที่ชุมชน 28 หมู่บ้าน ในพื้นที่รัศมี 1 กิโลเมตร จากแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เพื่อให้เป็นต้นแบบการอนุรักษ์วัวแดงและขยายผลไปสู่ชุมชนอื่นที่มีวัวแดงอาศัยอยู่ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืนของประเทศ
โดยอาสาสมัครจะมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์วัวแดงบนพื้นฐานข้อมูลทางวิชาการที่ถูกต้อง แม่นยำและเหมาะสม โดยการผลักดันให้เกิด 1.เรียนรู้การอนุรักษ์วัวแดง 2.แผนการจัดการเพื่อการอนุรักษ์วัวแดง 3.คู่มือชีวประวัติของวัวแดงที่ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติและที่เกิดในพื้นที่ 4.โปรแกรมสิ่งแวดล้อมศึกษาเรื่องการอนุรักษ์วัวแดง และ 5.คู่มือการสำรวจวัวแดง เพื่อใช้ในการทำค่ายเยาวชน และผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้เกี่ยวกับวัวแดง ในศูนย์การเรียนรู้การอนุรักษ์วัวแดงในศูนย์เขาน้ำพุ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จังหวัดกาญจนบุรี
กิจกรรมเหล่านี้จะอยู่ในโครงการระยะที่ 1 (พ.ศ.2563-2566 และในโครงการระยะที่ 2 (พ.ศ.2564-2568) จะเป็นการขยายผลของโครงการภายในพื้นที่ชุมชนอื่นๆ ที่ยังคงมีวัวแดงอยู่อาศัย หรือมีศักยภาพในการปล่อยวัวแดงในอนาคตกลุ่มเป้าหมายหลัก 1.ชุมชนรอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ 28 ชุมชน รอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระในรัศมี 1 กิโลเมตร จำนวน 5 คนต่อชุมชน รวมทั้งสิ้น 140 คน 2.หน่วยงานราชการ 3.ภาคธุรกิจ 4.สถาบันการศึกษา 5.องค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม และ 6.พระสงฆ์ กลุ่มเป้าหมายรอง ประกอบด้วย อาสาสมัครอนุรักษ์วัวแดงในพื้นที่อื่นๆ 17 พื้นที่อนุรักษ์ อย่างน้อย 1 ชุมชนต่อพื้นที่ ชุมชนละ 5 คน โดยมีบทบาทในการร่วมสำรวจประชากรการติดตามประชากรวัวแดง โดยใช้กล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า การสืบข่าวและการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับการบุกรุกและการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรสัตว์ป่าและป่าไม้ในพื้นที่รับผิดชอบ และประชาสัมพันธ์โครงการ โดยการประสานงานกับชุมชนและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี
แนวทางการบริหารโครงการเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องยั่งยืนของโครงการ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์และศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ มีหน้าที่ในการติดตามประเมินผลอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปี ภายหลังจากโครงการสิ้นสุดแล้ว พร้อมทั้งมีการประชุมอาสาสมัครอนุรักษ์วัวแดงในโครงการ เพื่อรายงานผลการดำเนินงานประจำปี เพื่อขับเคลื่อนการอนุรักษ์วัวแดงในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ และพื้นที่อื่นๆ อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ซึ่งวัสดุครุภัณฑ์ที่ได้รับการสนับสนุนในการดำเนินงานทั้งหมดจะมอบให้ศูนย์เรียนรู้การอนุรักษ์วัวแดง เพื่อให้โครงการมีความต่อเนื่องและยั่งยืน
ผลประโยชน์ต่อประชาชนและชุมชน 1.กลุ่มเครือข่ายชุมชน 35 ชุมชน เข้าใจการอนุรักษ์วัวแดง และสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อให้เกิดความยั่งยืน 2.มีศูนย์เรียนรู้การอนุรักษ์วัวแดง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์วัวแดง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำหรับ เยาวชน ประชาชน และชุมชนท้องถิ่น
3.ประชาชนและชุมชน รวมทั้งภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้รับรู้ข้อมูลและข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์วัวแดงอย่างต่อเนื่องและมีบทบาทสำคัญในการขยายผล เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และความสำเร็จไปสู่ชุมชนอื่นๆ
4.ประชาชนและชุมชนมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์วัวแดง โดยเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมภายใต้โครงการ ตั้งแต่การรับรู้ปัญหาร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมปฏิบัติ ร่วมติดตามประเมินผล และร่วมรับผลประโยชน์ ซึ่งเป็นผลงานที่ชุมชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรมด้านคุณค่าแก่การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และขยายผลความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการไปสู่พื้นที่อื่นได้
5.ได้ฐานข้อมูลวัวแดง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ในการให้ความรู้เรื่องการอนุรักษ์วัวแดงให้แก่ชุมชน ทั้งในท้องถิ่นและประชาชนทั่วไป
ผลประโยชน์ต่อระบบนิเวศ 1.ทำให้ระบบนิเวศป่าไม้ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 602,000 ไร่ ได้รับการปกป้องคุ้มครอง โดยการมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของวัวแดง และ 2.ความซับซ้อนของสายใยอาหารจะกลับมาโดยมีวัวแดงเป็นตัวกลางในระบบ” นายเสรี นาคบุญ หัวหน้าศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ กล่าว