เชียงใหม่ - ทนายความของภรรยา “พ่อเลี้ยงชูชาติ” ผู้ก่อตั้งปางช้างแม่สา ตั้งโต๊ะแจงข้อเท็จจริงอีกด้านกรณีพิพาทเรื่องผู้จัดการมรดกและการแบ่งทรัพย์สินมรดกพันล้าน หลังผ่านมาเกือบ 3 ปียังวุ่นไม่เลิก ยืนยันศาลพิสูจน์แล้วว่าพินัยกรรมของจริง ซึ่งระบุมอบมรดกให้ลูกสาวคนโต “อัญชลี” เป็นงาช้างเพียงคู่เดียวเท่านั้น แต่ที่ยังได้กลับเข้าไปบริหารปางช้างทุกวันนี้ เพราะศาลไกล่เกลี่ยประนีประนอม เนื่องจากเห็นว่าเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน พร้อมโต้กรณีที่ยังไม่สามารถแบ่งมรดกและทรัพย์สินได้เพราะยังอยู่ระหว่างการรอศาลฎีกาตัดสินชี้ขาดประเด็นผู้จัดการมรดก
วันนี้ (23 มี.ค.) ที่โรงแรมดิเอ็มไพร์ เรสซิเดนซ์ ถนนนิมมานเหมินท์ ซอย 6 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ นายอัคคพาคย์ อินทรประพงศ์ ทนายความส่วนตัวและที่ปรึกษาทางกฎหมายของ นางฐิติรัตน์ กัลมาพิจิตร ภรรยานายชูชาติ กัลมาพิจิตร ผู้ก่อตั้ง และอดีตผู้บริหารปางช้างแม่สา อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ที่เสียชีวิตวันที่ 27 มกราคม 2562 หรือ 3 ปีกว่าที่ผ่านมา ได้แถลงข่าวกรณีข้อพิพาท ระหว่างนางอัญชลี กัลมาพิจิตร บุตรสาวคนโตของนายชูชาติ กับนางฐิติรัตน์ (แม่เลี้ยง) เรื่องผู้จัดการมรดกและการบริหารจัดการปางช้างแม่สา
ทั้งนี้ ได้ระบุว่า นายชูชาติ ก่อนเสียชีวิต ได้ทำพินัยกรรม เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2561 ให้นายเชิดศักดิ์ กัลมาพิจิตร บุตรชายคนรอง และนางฐิติรัตน์ ภรรยาที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย เป็นผู้จัดการมรดกร่วม เพื่อจัดการทรัพย์สินของปางช้างแม่สา รีสอร์ต และน้ำดื่มเอเล่ รวม 3 กิจการ ที่เป็นหุ้นช้างกว่า 80 เชือก ที่ดินกว่า 100 ไร่ รวมมูลค่า 1,000 ล้านบาท
ต่อมานายเชิดศักดิ์ได้ถอนตัวจากเป็นผู้จัดการมรดกร่วม ทำให้นางอัญชลีได้ร้องต่อศาลเป็นผู้จัดการมรดกร่วมแทน จึงมีการไกล่เกลี่ยและทำสัญญาประนีประนอมกันเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2562 ซึ่งศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาให้นางอัญชลีเป็นผู้จัดการมรดกร่วมได้ แต่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ทำให้คดียังไม่ถึงที่สุด
ระหว่างนั้นนางอัญชลีได้โพสต์ข้อความทางโซเซียลมีเดีย กล่าวหานางฐิติรัตน์ไม่แบ่งมรดกและทรัพย์สินโดยเร็ว ซึ่งนางฐิติรัตน์ไม่สามารถทำได้ ต้องรอศาลฎีกาพิพากษาและมีคำสั่งก่อนถึงแบ่งมรดกและทรัพย์สินตามพินัยกรรมได้
นอกจากนี้ นายอัคคพาคย์กล่าวอีกว่า หลังการไกล่เกลี่ยและประนีประนอม นางอัญชลีไม่ได้ให้นางฐิติรัตน์เข้าไปบริหารปางช้างแม่สา และไม่จ่ายเงินเดือน เดือนละ 180,000 บาท ตั้งแต่พฤศจิกายน 2562 เป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว ทำให้นางฐิติรัตน์ไม่ได้รับเงินเดือน 5-6 ล้านบาทแล้ว
อีกทั้งตั้งแต่นางอัญชลีเข้าไปบริหารปางช้างแม่สา ได้ไล่พนักงานที่เป็นคนของนายชูชาติ และนางฐิติรัตน์กว่า 10 คนออก จนมีการฟ้องศาลแรงงานเพื่อเรียกค่าชดเชยกว่า 1 ล้านบาท และใช้ทุนสำรองจำนวน 20 ล้านบาท ที่นายชูชาติทิ้งไว้ก่อนเสียชีวิตอย่างไม่โปร่งใส ทำให้นางฐิติรัตน์ได้ฟ้องร้องฐานยักยอกทรัพย์ ต่อมาได้ถอนฟ้อง เนื่องจากศาลได้ไกล่เกลี่ยเพราะเป็นคนตระกูลเดียวกัน
นายอัคคพาคย์เปิดเผยด้วยว่า ช่วง 2-3 ปี ได้มีคดีฟ้องร้องเรื่องมรดก ทรัพย์สินและคดีอื่นๆ 15-16 คดี แต่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล 4-5 คดีเท่านั้น ในจำนวนนี้มีคดีที่ศาลพิพากษาจำคุกนางอัญชลี 1 ปี 6 เดือน ฐานฟ้องเท็จ แต่ให้รอลงอาญา 2 ปี ซึ่งนางฐิติรัตน์ไม่มีเจตนาทำให้ใครเดือดร้อนหรือเสียหาย แต่เป็นการดำเนินกฎหมายตามสิทธิโดยชอบธรรมเพื่อปกป้องตนเองเท่านั้น
ทั้งนี้ นางฐิติรัตน์อยากให้นางอัญชลี ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอม และยอมรับพินัยกรรมดังกล่าว เนื่องจากศาลได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นพินัยกรรมจริง และใช้เป็นหลักฐานในการพิจารณาคดีด้วย
นายอัคคพาคย์กล่าวถึงพินัยกรรมที่นายชูชาติทำไว้ว่า ปางช้างแม่สามีหุ้น 50,000 หุ้น นายชูชาติถือหุ้น 18,000 หุ้น แบ่งให้นายเชิดศักดิ์ 10,000 หุ้น นางฐิติรัตน์ 8,000 หุ้น ทำให้นางฐิติรัตน์มีหุ้นในปางช้างรวม 12,000 หุ้น จาก 50,000 หุ้น แต่ไม่มีส่วนร่วมบริหารจัดการอย่างใด
ส่วนรีสอร์ต นายชูชาติถือหุ้น 5,000 หุ้น แบ่งให้นายเชิดศักดิ์ 3,000 หุ้น นางฐิติรัตน์ 2,000 หุ้น และน้ำดื่มเอเล่ นายชูชาติ ถือหุ้น 5,000 หุ้น แบ่งให้นายเชิดศักดิ์ 3,000 หุ้น นางฐิติรัตน์ 2,000 หุ้น ส่วนนางอัญชลีได้รับมรดกเป็นงาช้างเพียงคู่เดียวเท่านั้น ซึ่งนายชูชาติไม่ได้แบ่งหุ้น และไม่ได้ให้นางอัญชลี เป็นผู้จัดการมรดกร่วมอย่างใด
รายงานข่าวแจ้งว่า พินัยกรรมของนายชูชาติ ได้แบ่งมรดกทรัพย์สินให้แก่บุตร 4 คน นางฐิติรัตน์ และ น.ส.อภิสรา กัลมาพิจิตร บุตรบุญธรรม รวมเป็น 6 คน ก่อนนางอัญชลีได้ขออายัดศพนายชูชาติเพื่อตรวจพิสูจน์หาสาเหตุการเสียชีวิต และพินัยกรรมดังกล่าวว่ามีสิ่งผิดปกติหรือไม่ แต่ไม่ปรากฏสิ่งผิดปกติแต่อย่างใด จนนำไปสู่การฟ้องร้องคดีต่างๆ อย่างมากมาย และมีท่าทีว่าไม่จบลงง่ายๆ