ลำปาง - เร่งปรับขาเทียม “พังโม่ชะ-พังโม่ตาลา” ช้างเหยื่อกับระเบิดชายแดนพม่าที่ใส่ขาเทียม 2 เชือกแรกของโลกหลังสภาพร่างกายของช้างเติบโตขึ้น แต่สถานการณ์โควิดทำทีมทำขาเทียมเดินทางไม่ได้มานาน 2 ปี จนกระดูกสันหลังพังโม่ชะโก่ง
รศ.นพ.เทอดชัย ชีวะเกตุ อดีตเลขาธิการมูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พร้อมคณะได้เดินทางมาตรวจสอบสภาพขาเทียม ที่ทำให้กับพังโม่ชะ อายุ 16 ปี และ พังโม่ตาลา อายุ 61 ปี ซึ่งเหยียบกับระเบิดบริเวณชายแดนฝั่งประเทศพม่า ด้านจังหวัดตาก ก่อนเจ้าของจะนำส่งมารักษาที่มูลนิธิเพื่อนช้าง เมื่อปี 2542 (พังโม่ตาลา) และปี 2549 (พังโม่ชะ)
ต่อมาทางมูลนิธิฯ ได้ช่วยรักษาจนสุดท้ายพังโม่ชะที่ได้รับบาดเจ็บเท้าหน้าขวาต้องถูกตัดตั้งแต่ใต้เข่าลงมาทิ้ง ส่วนพังโม่ตาลาได้รับบาดเจ็บที่เท้าหน้าซ้าย ฝ่าเท้าขาดรุ่งริ่งไม่สามารถเหยียบพื้นได้ ขณะที่เจ้าของช้างไม่สามารถเลี้ยงดูช้างได้จึงมอบให้อยู่ในความดูแลของมูลนิธิฯ จนถึงปัจจุบัน
หลังจากการรักษาบาดแผลหายสนิท ทำให้ช้างทั้งสองเชือกมีปัญหาด้านการทรงตัว การเดิน การรับน้ำหนัก เพราะใช้ขาได้เพียง 3 ขาเท่านั้นในการพยุงตัวเอง ทำให้เท้าหน้าข้างที่เหลือ ซึ่งรับน้ำหนักมากขึ้นเรื่อยๆเริ่มมีปัญหาโค้งงอผิดรูป และกระดูกสันหลังเริ่มโก่งงอเนื่องจากเสียการทรงตัว
นางสาวโซไรดา ซาลวาลา เลขาธิการมูลนิธิเพื่อนช้าง และ น.สพ.ปรีชา พวงคำ ประชุมปรึกษาเพื่อตั้งคณะทำงานในการรักษาพังโม่ตาลา ซึ่งได้มีการเชิญ รศ.นพ.เทอดชัย ชีวะเกตุ จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (เลขาธิการมูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) และ นพ.อร่าม พงศ์เชี่ยวบุญ จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาเป็นคณะทำงานในการรักษา ซึ่งมีแนวทางว่าหากผลการผ่าตัดเป็นผลสำเร็จ และควบคุมการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ ก็จะทำขาเทียมใส่ให้พังโม่ตาลา
ตลอดระยะเวลารักษาสิบกว่าปีที่พังโม่ตาลาอยู่ในความดูแลของมูลนิธิเพื่อนช้าง พังโม่ตาลามีสุขภาพแข็งแรง กินอาหารและน้ำได้ดี ระบบขับถ่ายเป็นปกติ บาดแผลผ่าตัดเกือบหายดี ทาง รศ.นพ.เทอดชัยจึงทำขาเทียมให้ “พังโม่ชะ" ก่อน จึงเป็นช้างเชือกแรกของโลกที่ได้ใส่ขาเทียม ในปี 2551 แต่แผลพังโม่ตาลาหายค่อนข้างช้า จึงได้ทำขาเทียมสวมใส่เป็นเชือกที่ 2 ของโลกที่ใส่ขาเทียมในปี 2552
หลังจากใส่ขาเทียมไปแล้วก็ได้มีการปรับเปลี่ยนขนาดไปตามความเจริญเติบโตของช้าง ซึ่งที่ผ่านมาพังโม่ชะเปลี่ยนขาเทียมไปแล้ว 12 อัน อันนี้เป็นอันที่ 13 ส่วนพังโม่ตาลาเปลี่ยนมาแล้ว 8 อัน อันนี้เป็นอันที่ 9
แต่ช่วงโควิดสองปีกว่าที่ผ่านมาทางทีมงานไม่สามารถเดินทางมาตรวจและปรับขนาดได้จึงทำให้ช้างไม่ได้ใช้ขาเทียม ซึ่งก็พบว่าพังโม่ชะเริ่มมีอาการกระดูกสันหลังโค้งโก่งงอมากขึ้น เนื่องจากขารับน้ำหนักได้เพียง 3 ขา และต้องนอนบ่อย
นางสาวโซไรดา ซาลวาลา เลขาธิการมูลนิธิเพื่อนช้าง กล่าวว่า ที่ผ่านมาต้องเอาขาเทียมออกเพราะเริ่มไม่ได้ขนาด-ช้างสวมไม่ถนัด ซึ่งจะสังเกตว่าพังโม่ตาลาหลังจากที่ไม่ได้ใส่ขาเทียมน้ำหนักมาลงเพียงขาเดียวทำให้ขาเริ่มบวมและเล็บแตก ส่วนพังโม่ชะก็เช่นกันเริ่มขาบวมและมีการโก่งงอของสันหลังเพิ่มขึ้น หากไม่รีบให้ใส่ขาเทียมโดยเร็วโอกาสที่จะเดินไม่ได้ในอนาคตมีสูง อย่างไรก็ตาม ทางคณะ รศ.นพ.เทอดชัยได้มาตรวจสอบขาเทียมช้างเมื่อ 21 มี.ค. 65 และจะทำการแก้ไขให้สวมใส่ได้โดยไม่ต้องขึ้นรูปใหม่ซึ่งก็จะเร็วขึ้น
รศ.นพ.เทอดชัยได้กล่าวว่า จากการตรวจสอบขาเทียมที่ช้างสวมใส่ต้องมีการปรับแก้บางส่วน คือ พังโม่ชะ จะต้องเพิ่มขนาดบางจุดเพราะขาของช้างใหญ่ขึ้น ส่วนกระดูกสันหลังที่โก่งงอ หากมีการใช้ขาเทียมไปตลอดก็จะช่วยพยุงน้ำหนักได้และด้วยพังโม่ชะเจริญเต็มที่แล้วก็จะทำให้กระดูกไม่โก่งงอไปมากกว่านี้แล้ว ส่วนพังโม่ตาลาอาจจะต้องมีการลดระดับความสูงลงมา เพราะจากการสังเกตเวลาเดินเท้าช้างจะแบะออกด้านข้างไม่สามารถยืนตรงได้เนื่องจากขาเทียมสูงกว่าเท้าปกติอีกข้าง ซึ่งก็แก้ไขไม่ยากและใช้เวลาเร็วกว่าการขึ้นรูปใหม่