พิจิตร - กลายเป็นภาพจำซ้ำซากแล้ว..น้ำยมแห้งขอดเหลือแต่ท้องทรายตลอดสายยาว 124 กม. ชลประทานรับต้องรอสร้างประตูระบายน้ำแบบขั้นบันได 5 จุดสร้างเสร็จปี 68 ช่วยเก็บน้ำได้
วันนี้ (17 มี.ค. ) นายเอกฉัตร เอี่ยมตาล ผอ.โครงการชลประทานพิจิตร เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในเขตพื้นที่จังหวัดพิจิตร ว่าขณะนี้สถานการณ์ภัยแล้งส่อเค้าหนักหน่วง ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นเป็นประจำ โดยเฉพาะกับแม่น้ำยมที่ไหลผ่านพิจิตรระยะทาง 124 กม. ไล่ตั้งแต่ อ.วชิรบารมี อ.สามง่าม อ.โพธิ์ประทับช้าง อ.บึงนาราง อ.โพทะเล แห้งขอดจนเป็นแต่หาดทรายสามารถเดินข้ามแม่น้ำได้แล้ว
เพราะแม่น้ำยมไม่มีเขื่อนในการกักเก็บน้ำ ซึ่งในอดีตพอถึงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี น้ำในแม่น้ำยมก็จะแห้งขอดอย่างที่เห็น แต่ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา กรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำสามง่ามหรือที่เรียกว่าฝายไฮดรอลิกพับได้ จึงทำให้สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ยาวนานถึงเดือนมกราคม 65 แต่ขณะนี้น้ำที่บริเวณเหนือประตูระบายน้ำสามง่ามก็แห้งขอดแล้วด้วยเช่นกัน เนื่องจากชาวนาสูบน้ำไปทำนากันมาก
ผอ.โครงการชลประทานพิจิตรกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานกำลังเร่งสร้างประตูระบายน้ำเพื่อกักเก็บน้ำในแม่น้ำยมแบบขั้นบันไดถึง 5 แห่ง คือ ปตร.สามง่าม สร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว ส่วนอีก 4 แห่ง ประกอบด้วย ปตร.ท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก, ปตร.ท่าแห-ปตร.วังจิก-ปตร.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร กำลังก่อสร้าง คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2568 ก็จะทำให้แม่น้ำยมมีน้ำเพื่อการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ต่อไปอย่างแน่นอน
ส่วนของบึงสีไฟ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำใหญ่มีพื้นที่กว่า 5,300 ไร่ ที่ก่อนหน้านั้นตื้นเขิน กรมเจ้าท่าใช้ระยะเวลายาวนานกว่า 3 ปี ในการขุดลอก-ขนย้ายดินออกจากบึงสีไฟ ขณะนี้ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ นายไพบูลย์ ณะบุตรจอม ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร จึงได้ประสานงานกับสำนักงานชลประทานพิจิตรขอโควตาเติมน้ำเข้าบึงสีไฟตั้งแต่ต้นฤดูฝน คือ ราวเดือน ส.ค.-ก.ย. 64 จำนวน 12 ล้านลูกบาศก์เมตร
เพื่อกักเก็บน้ำให้เป็นน้ำซึมน้ำซับสร้างความชุมชื้นให้แก่พื้นที่การเกษตรที่อยู่โดยรอบบึงสีไฟ รวมถึงเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและให้บึงสีไฟเป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จที่ทำให้บึงสีไฟได้ทำหน้าที่เป็นแก้มลิงกักเก็บน้ำแก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลดังกล่าวอีกด้วย