xs
xsm
sm
md
lg

อุบลฯฉลุย!แยกเด็กติดเชื้อสอบเข้ามหาลัย ไม่กระทบสิทธิทุกคนได้เรียนต่อตามระบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อุบลราชธานี-สนามสอบเข้ามหาวิทยาลัยเด็กนักเรียนอีสานใต้ฉลุย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี แบ่งโซนรองรับเด็กปกติกับเด็กป่วยติดเชื้อโควิด-19และโรคอื่น ได้สอบเท่าเทียมกัน เผยห้องสอบเป็นสถานที่โล่ง อากาศถ่ายเท และจัดโต๊ะให้นั่งสอบห่างกันไม่น้อยกว่า 2 เมตร


สำหรับบรรยากาศสอบแกท แพท (GAT / PAT) สนามสอบจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี รับเป็นผู้จัดสอบมี 6 สนามสอบกระจายใน 5 อำเภอ มีนักเรียนเข้าสอบรวม 3,432 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 33 คน คณะกรรมการจัดสอบ จึงวางมาตรการไม่ให้เด็กที่ติดเชื้อ หรือเด็กที่เข้าข่ายต้องสงสัย เสียโอกาสในการสอบแข่งขัน โดยจัดพื้นที่ให้เข้าร่วมสอบด้วย

พร้อมเข้มงวดผู้เข้าสอบทุกคน ต้องผ่านการคัดกรอง ตรวจวัดอุณหภูมิ แสดงผลการฉีดวัคซีน หากผู้มีอุณหภูมิสูงเข้าข่ายเป็นผู้ป่วย แต่ไม่ได้ยืนยันการติดเชื้อ จะถูกแยกให้สอบในห้องสอบพิเศษที่จัดไว้รองรับ นอกเหนือจากห้องสอบที่ยืนยันเป็นผู้ป่วยแล้ว




ผศ.ดร.ณัฏฐ์ ดิษเจริญ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ หน.ศูนย์สอบมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวถึงมาตรการที่นำมาใช้ในการจัดสอบครั้งนี้ว่า ทุกสนามสอบจะมีการเตรียมห้องพิเศษไว้ทุกแห่ง โดยแบ่งเป็นห้องผู้ป่วยทั่วไป ใช้รองรับเด็กป่วยที่ไม่เกี่ยวกับโรคระบาด แต่ไม่สามารถเข้าร่วมสอบในห้องสอบปกติได้

ต่อมาเป็นห้องสอบ สำหรับผู้ที่มีอุณหภูมิสูงเกิน 37 องศาเซลเซียส แต่ยังไม่ยืนยันเป็นผู้ป่วยติดเชื้อ ก็ให้แยกสอบไปอีกส่วน ส่วนห้องสอบที่สาม เป็นห้องสอบของผู้มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย สุดท้ายเป็นห้องสอบของผู้ป่วยติดเชื้อ

สถานที่ใช้เป็นห้องสอบ จะเป็นสถานที่โล่ง อากาศถ่ายเทได้ดี และมีการจัดโต๊ะให้นั่งสอบห่างกันไม่น้อยกว่า 2 เมตร ผู้เข้าสอบที่ติดเชื้อทุกคนต้องสวมหน้ากาก 2 ชั้น สวมถุงมือทางการแพทย์ ต้องมีแอลกอฮอล์ติดตัว ใช้ฉีดโต๊ะ เก้าอี้ และฉีดพ่นเอกสารการสอบ ก่อนส่งให้ผู้ควบคุมการสอบ

และไม่อนุญาตให้ผู้สอบที่ติดเชื้อออกนอกห้องสอบในช่วงพัก ต้องนำอาหารมาทานเอง ระหว่างเข้ามาสอบและหลังการสอบ จะมีเจ้าหน้าที่คอยนำเข้าห้องสอบในช่องทางที่กำหนด ไม่ปะปนกับคนอื่น แม้การใช้ห้องน้ำ ก็มีการแยกจากกลุ่มนักเรียนปกติ


สำหรับจังหวัดอุบลราชธานี วันนี้ มีผู้ติดเชื้อจากการตรวจ PCR 233 คน ที่เหลือเป็นผู้ติดเชื้อ ATK เสียชีวิตรวมแล้ว 50 คน อยู่ระหว่างรักษา 10,629 คน เป็นผู้ป่วยปอดอักเสบ 176 คน มีอาการหนักต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 12 คน

ซึ่งนอกจากสนามสอบที่จังหวัดอุบลราชธานี ก็ยังใช้มาตรฐานเดียวกันกับสนามสอบจังหวัดศรีสะเกษ ยโสธร และอำนาจเจริญ ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี รับผิดชอบจัดสอบในเขตอีสานใต้นี้ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น