xs
xsm
sm
md
lg

“อนุทิน” ลุยเมืองช้างเปิดประชุมกัญชาทางการแพทย์นำร่อง ย้ำชูกัญชา-กัญชงสร้างความมั่นคงสุขภาพและ ศก.ชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สุรินทร์ - “อนุทิน” นำทีมผู้บริหาร สธ. ลุยเมืองช้าง เปิดประชุมวิชาการกัญชาทางการแพทย์นำร่อง เขตสุขภาพที่ 9 เร่งให้ความรู้หลังปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติด จะมีผลบังคับใช้ใน 120 วัน เปิดทาง ปชช.ใช้กัญชาดูแลสุขภาพตนเองและต่อยอดเศรษฐกิจครอบครัวเต็มสูบ ด้าน “อนุทิน” ย้ำชูกัญชากัญชงสร้างความมั่นคงสุขภาพและเศรษฐกิจชาติ เป็นพืช ศก.ชุมชน ปี 64 สร้างรายได้กว่า 7 พันล้าน มีผู้ป่วยได้รับยากัญชา 1 แสนราย

วันนี้ (4 ก.พ.) ที่อาคารเรียนรวม 100 ปี คณะเทคโนโลยีการจัดการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ อ.เมือง จ.สุรินทร์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการกัญชาทางการแพทย์ เขตสุขภาพที่ 9 "ปลดล็อกกัญชา กัญชง สร้างสุขภาพ สร้างรายได้" เป็นการประชุมนำร่องเป็นเขตแรกจากทั้งหมด 12 เขตสุขภาพทั่วประเทศ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 มี.ค.นี้


โดยมี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์ ข้าราชการ นักการเมือง ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ประชาชนผู้สนใจ เข้าร่วมงานประชุม และชมนิทรรศการกัญชาทางการแพทย์ รวมทั้งร่วมกิจกรรมต่างๆ ภายในงานเป็นจำนวนมาก ภายใต้มาตรการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 อย่างเข้มงวด โดยผู้เข้าร่วมในงานทุกคนจะต้องผ่านการตรวจด้วยวิธี Antigen Test Kit (ATK)

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ความเป็นมาของการจัดประชุมว่า การประชุมดังกล่าวเป็นไปตามที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 2565 เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 และจะมีผลบังคับใช้ภายใน 120 วัน หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยการลงนามปลดพืชกัญชาออกจากรายการยาเสพติด เพื่อให้ประชาชนสามารถนำมาใช้ดูแลสุขภาพตนเองเบื้องต้น และต่อยอดเศรษฐกิจครอบครัว โดยไม่ต้องขออนุญาตเปลี่ยนมาเป็นการจดแจ้งให้รัฐทราบแทน


หลังจากที่ประเทศไทยเปิดโอกาสให้นำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ตั้งแต่ปี 2562 กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นเจ้าภาพหลักในเรื่องนี้ ได้มีการติดตามประสิทธิผลและความปลอดภัยของการใช้กัญชาในการรักษาโรคต่างๆ การเข้าถึงยากัญชาทางการแพทย์ของประชาชน เปิดคลินิกกัญชาในหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงติดตามเรื่องความกังวลของสังคม ไม่ว่าจะเป็นการส่งผลต่อจิตและประสาท หรือการเสพติดนั้น กระทรวงสาธารณสุขมีระบบการรักษาและกำกับติดตามผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาในคลินิกกัญชาทางการแพทย์ ซึ่งพบว่าผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาด้วยยากัญชาและมีความปลอดภัยสูง

นอกจากนี้ การให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนก็เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะเมื่อประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ จะเป็นภูมิคุ้มกันสำคัญในการทำให้กัญชาถูกใช้ประโยชน์อย่างถูกต้อง


ดังนั้น ผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายเร่งดำเนินการในเรื่องนี้ โดยเน้นทำให้เร็วและครอบคลุม ทำให้ทันก่อนที่ประชาชนจะเริ่มปลูกได้ เพราะประชาชนต้องมีความรู้ตั้งแต่เรื่องโรคที่สามารถใช้กัญชาในการดูแสสุขภาพตนเองเบื้องต้น สายพันธุ์ต่างๆ ของกัญชา วิธีการปลูก และการใช้ยาหรือการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกัญชา

จึงกำหนดให้มีการจัดประชุมวิชาการกัญชาทางการแพทย์ขึ้นใน 12 เขตสุขภาพทั่วประเทศ ในงานมีการประชุมวิชาการทั้งภาคประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งตลอดการจัดงานทั้ง 3 วัน (4-6 มีนาคม) โดยมีเป้าประสงค์เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่พี่น้องประชาชนมากที่สุด


การดำเนินงานของเขตสุขภาพที่ 9 ในครั้งนี้ ซึ่งประกอบไปด้วยจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และชัยภูมิ เป็นเขตสุขภาพที่มีความเข้มแข็งในการขับเคลื่อนกัญชาเสรีทางการแพทย์ นำโดย นายแพทย์ พงศ์เกษม ไข่มุกด์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 9 และนายแพทย์สาธารณสุขทั้ง 4 จังหวัด มีการดำเนินการทั้งในส่วนต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ โดยในส่วนต้นน้ำ มีการปลูกกัญชาถึง 53 แห่ง ปลูกกัญชงถึง 93 แห่ง ในส่วนกลางน้ำ มีโรงพยาบาล GMP คือ โรงพยาบาลคูเมือง ที่มีศักยภาพผลิตยากัญชา ทั้งแผนปัจจุบันและแผนไทย เพื่อสนับสนุนทั้งเขตสุขภาพที่ 9 และเขตสุขภาพอื่นๆ ด้วย

ส่วนปลายน้ำ สามารถเปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์ในโรงพยาบาลภาครัฐครบทุกแห่ง คลินิกกัญชาทางการแพทย์ภาคเอกชน 9 แห่ง ซึ่งทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยากัญชาทั้งแผนไทย แผนปัจจุบัน ซึ่งจุดเด่นของเขตสุขภาพที่ 9 คือ ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยากัญชาแผนปัจจุบันมากที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มโรคผู้ป่วยระยะประคับประคอง (Palliative Care)


นอกจากนี้ยังขยายไปถึงการขับเคลื่อนถึงเศรษฐกิจ การพัฒนานำไปผสมในอาหาร เช่น ลูกชิ้นยืนกิน ของจังหวัดบุรีรัมย์, หมี่โคราชของจังหวัดนครราชสีมา, กาละแมและกุนเชียง ของจังหวัดสุรินทร์, หม่ำ ของจังหวัดชัยภูมิ เพื่อเพิ่มมูลค่าในผลิตภัณฑ์ของดีของแต่ละจังหวัด

นอกเหนือจากการประชุมวิชาการแล้ว ยังมีนิทรรศการ ตลาดนัดความรู้ที่มีทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่มีผลงานโดดเด่นมาร่วมจัดแสดง ให้ประชาชนได้เห็น สัมผัส ชิมและลงมือทำ

รวมทั้งมีสถาบันกัญชาทางการแพทย์ เป็นหน่วยงานที่จะประสานให้มีการนำกัญชาไปใช้ประโยชน์ทางสุขภาพประชาชนสามารถมาสอบถามเรื่องการรักษา และการต่อยอดทางเศรษฐกิจได้, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มาเปิดบริการให้คำปรึกษาเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการขออนุญาตการปลูกเชิงพานิชย์ได้อย่างรวดเร็ว, กรมการแพทย์และกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก จัดนิทรรศการการรักษาด้วยยากัญชา มาให้คำปรึกษาเรื่องโรคและยากัญชา สามารถพูดคุยกับคุณหมอได้โดยตรง รวมทั้งการจัดบริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์ทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย ให้ผู้ป่วยมาตรวจรักษาและรับยากลับบ้าน ซึ่งโรคหรือภาวะที่กรมการแพทย์ให้แนวทางแนะนำว่าใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์แล้วได้ประโยชน์ ซึ่งผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มนี้ใช้ยารักษาปกติอยู่แล้วไม่ได้ผล หรือต้องการมารับการรักษาด้วยยากัญชาเพื่อเป็นทางเลือก ก็สามารถมาตรวจรักษาได้ในงาน


กรมสุขภาพจิตให้คำปรึกษา ให้ความรู้และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างปลอดภัย, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะมาให้ความรู้เรื่องสายพันธุ์กัญชา การตรวจวิเคราะห์สารต่างๆ ยังมีหน่วยงานจากกระทรวงอื่นๆ เช่น กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาร่วมให้ความรู้ในการปลูกกัญชากัญชง และสำนักงานการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ จะนำหลักสูตรการอบรม การแปรรูปกัญชามาจัดแสดงในงานด้วย


นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวเปิดการประชุมและแสดงปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “กัญชา กัญชงไทย ความมั่นคงทางสุขภาพและเศรษฐกิจของชาติ” ว่า พรรคภูมิใจไทยใช้นโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ในการหาเสียงเลือกตั้ง และเมื่อได้รับเลือกตั้งเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงสาธารณสุขทุกกรม และเครือข่ายร่วมกันผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายตลอดระยะเวลา 3 ปี ซึ่งถือว่าประสบผลสำเร็จเป็นขั้นเป็นตอนในการทำให้กัญชากลายเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่โดดเด่น

โดยเริ่มจากการใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์การทำให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจของชุมชนและความสำเร็จล่าสุด คือ การแก้กฎหมายทำให้กัญชาหลุดจากการเป็นยาเสพติดให้โทษ เป้าหมายแรกที่ประสบความสำเร็จ คือการใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกรมวิชาการด้านการวิจัยและรักษา ทั้งกรมการแพทย์ กรมแพทย์แผนไทย และกรมสุขภาพจิต ร่วมกันศึกษาวิจัย กำหนดแนวทางการใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์ จัดอบรม และจัดสอบขึ้นทะเบียนผู้เชี่ยวชาญ


ทำให้วันนี้มีผู้ป่วยได้รับยากัญชามากถึง 100,000 ราย จากการไปเยี่ยมโรงพยาบาลได้เห็นผลของการใช้กัญชารักษาโรคลมชัก โรคพาร์กินสัน ภาวะคลื่นไส้และอาเจียนจากยาเคมีบำบัด นอนไม่หลับ ที่ผู้ป่วยและญาติเล่าว่า การใช้กัญชาสามารถเสริมการรักษาแผนปัจจุบันได้อย่างดี ช่วยให้คุณภาพชีวิตดียิ่งขึ้น ในบางรายลดการใช้ยาแผนปัจจุบันราคาแพงที่ต้องเสียเงินเพิ่มได้

อย่างไรก็ตาม การใช้กัญชาจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลรักษาโดยแพทย์ แพทย์แผนไทย หรือแพทย์พื้นบ้านที่มีใบอนุญาตในการสั่งจ่าย ตนได้เน้นย้ำเพื่อขอให้บุคลากรทางการแพทย์ช่วยเปิดประตูหัวใจ ศึกษาประโยชน์ เข้ารับการอบรม และฝึกการใช้กัญชาในการรักษา เรียนรู้และสังเกตผลด้วยตนเอง เพื่อให้มีการใช้กัญชาทางการแพทย์เพิ่มขึ้น เพราะผู้ป่วย 100,000 ราย ยังไม่มีขนาดความต้องการหรือ demand เพียงพอที่จะสร้างโรงงานยาขนาดใหญ่ได้


นายอนุทินกล่าวต่อว่า ขอขอบคุณกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ศึกษาจนพบว่า ประเทศเรามีกัญชาไทย 4 สายพันธุ์ องค์การเภสัชกรรมและโรงพยาบาลต่างๆ ได้พัฒนาการสกัดและผลิตยาต้นแบบ การศึกษาวิจัยเหล่านี้จะเป็นการสนับสนุนให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ และการพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์

สำหรับเป้าหมายที่ 2 คือ การผลักดันให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจของชุมชน ต้องขอขอบคุณสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ที่ทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ในการปรับเปลี่ยนข้อกฎหมายเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการปลูก และต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์และบริการสุขภาพได้ง่ายขึ้น มีการจัดทำแนวทางการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์กัญชา กัญชง อำนวยความสะดวกให้เกษตรกรและผู้ประกอบการดำเนินการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ ปัจจุบันมีวิสาหกิจชุมชนปลูกกัญชา 400 กว่าแห่ง ปลูกกัญชง 1,800 กว่าแห่ง ที่ได้รับอนุญาต และมีผลิตภัณฑ์จากกัญชา กัญชงออกสู่ตลาดอย่างกว้างขวาง จะเห็นได้จากผลงานในปี 2564 แม้ว่าจะมีสถานการณ์โควิด-19 ผลิตภัณฑ์จากกัญชา กัญชง ก็ยังเป็นที่ต้องการของตลาดในประเทศอย่างมาก สร้างรายได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเป็นมูลค่าสูงกว่า 7 พันล้านบาท


และขณะนี้กำลังเดินหน้าให้คนไทยสามารถปลูกกัญชาเพื่อรักษาโรคได้เช่นเดียวกับสมุนไพรตัวอื่น แต่จะต้องมีกระบวนการควบคุมที่เหมาะสม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา เพื่อให้มีกฎหมายควบคุมเฉพาะ หลังจาก 120 วัน ที่กัญชาจะพ้นจากเป็นยาเสพติด ซึ่งประชาชนที่ต้องการปลูกเพื่อใช้ในครัวเรือน ไม่ต้องขออนุญาตแบบแต่ก่อน เปลี่ยนมาเป็นการจดแจ้งให้รัฐทราบ เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของสนธิสัญญาระหว่างประเทศ

ตนขอเน้นย้ำว่า เราได้ทำตามความต้องการของประชาชน คือการนำกัญชาออกจากยาเสพติด และขอให้ได้ใช้ประโยชน์ในทางที่ถูก และช่วยกันสอดส่องดูแลไม่ให้เพื่อนร่วมสังคมนำไปใช้ในทางที่ผิดต่อไป


ทั้งนี้ เพื่อตอบรับการเปลี่ยนแปลง กระทรวงสาธารสุขได้มีการเตรียมการไว้ 2 เรื่อง ประกอบด้วย 1. พัฒนาองค์ความรู้การใช้กัญชาเพื่อดูแลสุขภาพตนเองเบื้องต้น เสริมสร้างความรู้ให้ประชาชนผ่านสามหมอ โดยฝึกอบรมผ่านเครือข่าย อสม.ทั่วประเทศ จัดทำคู่มือ และอบรมบุคลากรทางการแพทย์ในการใช้กัญชาทางการแพทย์ และเข้าใจบทบาทการเป็นผู้ให้การรักษาและดูแล

2. พัฒนาทักษะของกลุ่มเครือข่ายธุรกิจชุมชนที่พัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชา กัญชงให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน เสริมความรู้ด้านการจัดการ ความเข้าใจความต้องการของตลาด การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่จากองค์ความรู้ทางสมุนไพร การเพิ่มประสิทธิผลและความปลอดภัย และการสนับสนุนอุตสาหกรรมยา อาหารในกลุ่มผลิตภัณฑ์จากกัญชา ตั้งแต่การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ การเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว การสกัดและการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานสากล โดยหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข คือ สถาบันกัญชาทางการแพทย์ เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลกัญชา เช่น การขออนุญาต การปลูก และแหล่งวัตถุดิบและผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ให้เข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อประกอบการตัดสินใจในการประกอบธุรกิจ สนับสนุนการขออนุญาตเพื่อการผลิตผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้นต่อไป














กำลังโหลดความคิดเห็น