เชียงใหม่ - สสจ.เชียงใหม่เผยพบมีประชาชนยังไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 อีกเพียบ ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เร่งเชิญชวนเข้ารับการฉีดเพื่อลดการเสียชีวิต พร้อมชี้แค่ 2 เข็มไม่เพียงพอป้องกัน "โอมิครอน" ขณะยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังเพิ่มเฉลี่ยวันละกว่า 2,400 ราย
วันนี้ (2 มี.ค. 65) นายแพทย์ จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ขณะที่การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของจังหวัดเชียงใหม่ พบว่ามีประชาชนบางส่วนยังไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนเลย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยติดเตียง ส่งผลให้เชื้อแพร่ระบาดเข้าไปถึงระดับครัวเรือน โดยพบว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนถึง 80-90 เปอร์เซ็นต์ จึงขอความร่วมมือประชาชนที่มีญาติพี่น้องที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน เชิญชวนและพากลุ่มคนเหล่านี้เข้ารับการฉีดวัคซีนตามศูนย์ฉีดทุกอำเภอ ส่วนญาติผู้ป่วยติดเตียงขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้านเพื่ออำนวยความสะดวกให้ต่อไป ทั้งนี้ จากผลการวิจัยพบว่าการฉีดวัคซีนเพียง 2 เข็มในขณะนี้ไม่สามารถป้องกันเชื้อโอมิครอนได้ แต่หากได้รับวัคซีนเข็ม 3 จะสามารถป้องกันโอมิครอนได้ถึง 68 เปอร์เซ็นต์ และป้องกันการเสียชีวิตได้ถึง 95-97 เปอร์เซ็นต์ จึงขอเชิญชวนผู้ที่ฉีดวัคซีน 2 เข็ม ครบกำหนดให้เข้ารับการฉีดวัคซีนเข็ม 3 เพื่อลดผลกระทบจากโอมิครอน ลดการติดเชื้อ และลดการเสียชีวิตได้
ขณะเดียวกัน จากการที่ประเทศไทยได้ใช้นโยบาย Living with covid ด้วยเห็นว่าโควิด-19 จะอยู่กับเราไปอีกเป็นเวลานาน ประกอบกับเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ในปัจจุบันมีการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว และผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ไม่มีอาการ หรือมีอาการที่ไม่รุนแรงนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ปรับแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มอาการหนัก และกลุ่มที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย โดยหลังจากผ่านการตรวจหาเชื้อแล้วผู้รับการตรวจจะได้รับการประเมินว่ามีภาวะเสี่ยงหรือไม่ กรณีที่มีภาวะเสี่ยง เช่น มีโรคประจำตัว กลุ่มโรคเรื้อรัง เป็นผู้สูงอายุ จะถูกเข้ารับการรักษาด้วยระบบ Home isolation, Hotel isolation, Community isolation, Hospitel หรือโรงพยาบาล แล้วแต่อาการของผู้ป่วย ส่วนผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะเสี่ยง ซึ่งมีจำนวนกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ จะให้รักษาตัวแบบผู้ป่วยนอก ด้วยการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) จ่ายยารักษาตามอาการ และมีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ โทรศัพท์ติดตามอาการ 1 ครั้ง ในช่วง 48 ชั่วโมง เนื่องจากมีอาการน้อย แต่หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงขึ้น จะถูกส่งต่อเพื่อไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลทันที
ส่วนการรายงานยอดผู้ติดเชื้อ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ได้มีการปรับรูปแบบการนำเสนอข้อมูล จากเดิมที่มีการแจ้งยอดผู้ติดเชื้อรายวัน เปลี่ยนเป็นการแจ้งยอดผู้ติดเชื้อเฉลี่ยในรอบ 14 วันแทน และเน้นรายงานข้อมูลผู้เจ็บป่วยที่ต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเป็นหลัก ลดความสำคัญในส่วนของผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการรุนแรงและผู้เสียชีวิตลง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์
สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระลอกเดือนมกราคม 2565 จังหวัดเชียงใหม่ ณ วันที่ 2 มีนาคม 2565 มีผู้ติดเชื้อยืนยันเฉลี่ย 14 วัน จำนวน 304 ราย และมีผู้ติดเชื้อเข้าข่ายเฉลี่ย 14 วัน จำนวน 2,402 ราย โดยมีผู้ติดเชื้อที่อยู่ในระบบการรักษาจำนวน 15,052 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียว คือไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย