ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ผู้ว่าฯ โคราช-หอการค้าขานรับ “นกแอร์” เปิดบิน 3 เส้นทางโคราชเชื่อมเหนือ-ใต้ฟื้นชีพ “สนามบินหนองเต็ง” ร้าง เสนอใช้เครื่องบินเหมาะสม เวลาสอดคล้องกับวิถีชีวิตและอัตราค่าโดยสารไม่แพงเกินไป ชี้เป็นการเพิ่มศักยภาพเมืองโคราชส่งเสริมเศรษฐกิจ สอดรับเมืองไมซ์ซิตี้ หนุน NEEC ผู้ว่าฯ ดันเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์รับสงกรานต์ เผยนกแอร์นัดหารือจังหวัดฯ 25 ก.พ.นี้ แย้มขอสิทธิพิเศษการบินและขอบริหารสนามบินเชิงพาณิชย์
ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยอนุญาตให้ บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ได้รับจัดสรรเส้นทางบินภายในประเทศเพิ่มเติม 12 เส้นทาง โดยในจำนวนนี้อนุญาตให้เปิดเส้นทางบินที่ท่าอากาศยานนครราชสีมา จำนวน 3 เส้นทางไป-กลับ ได้แก่ นครราชสีมา-เชียงใหม่ ไป-กลับ สัปดาห์ละ 7 เที่ยวบิน, นครราชสีมา-ภูเก็ต ไป-กลับ สัปดาห์ละ 7 เที่ยวบิน และ นครราชสีมา-หาดใหญ่ ไป-กลับ สัปดาห์ละ 7 เที่ยวบิน โดยใช้อากาศยานแบบ 8737-800 และบริษัทนกแอร์มีแผนจะเริ่มทำการบินตั้งแต่ 1 ต.ค. 2565 เป็นต้นไป ตามหนังสือแจ้งของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ด่วนมาก ที่ กทพ.08/8099 ลงวันที่ 11 ก.พ. 2564 นั้น
ล่าสุด นายศักดิ์ชาย ผลพานิชย์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยถึงเรื่องดังกล่าวว่า ถือเป็นสัญญาณที่ดีมากสำหรับชาวโคราชที่จะมีสายการบินพาณิชย์มาเปิดเส้นทางบินที่ท่าอากาศยานนครราชสีมาอีกครั้ง ซึ่งพวกเรารอคอยกันมานาน และถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจเมืองโคราชโดยเฉพาะโคราชเป็นเมืองไมซ์ซิตี้ (Mice City) รวมถึงเป็นการส่งเสริมการเป็นระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (NEEC: Northeastern Economic Corridor) และนกแอร์เป็นสายการบินอาชีพที่ทำธุรกิจการบินเชิงพาณิชย์ทั้งในและต่างประเทศ และครั้งนี้หากพิจารณาเส้นทางการบินที่นกแอร์ได้รับอนุญาตนั้น ล้วนเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจทั้งเชียงใหม่-ภูเก็ต และหาดใหญ่ เป็นเมืองท่องเที่ยวและการเดินทางจากโคราชต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน หากมีการเดินทางที่สะดวกเชื่อว่าพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นเป้าหมายหนึ่งของคนโคราชที่จะเดินทางไปทั้งท่องเที่ยวและทำธุรกิจด้วย
อย่างไรก็ตาม การบินเส้นทางการบินครั้งนี้ทางนกแอร์จะต้องพิจารณาปัจจัยหลายด้านด้วย และทางหอการค้าจังหวัดนครราชสีมาได้หารือกับภาครัฐและภาคเอกชนด้วยกัน มองว่าปัจจัยที่ส่งผลให้หลายสายการบินที่มาทำการบินในจังหวัดนครราชสีมาไปไม่รอดหรือไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ คือ ดังนี้
1. ขนาดเครื่องบินที่จะนำมาบินให้บริการรับส่งผู้โดยสารในครั้งนี้จะต้องมีความเหมาะสม ไม่เล็กหรือใหญ่จนเกินไป ตนมองว่าใช้ขนาดกลางๆ น่าจะเหมาะสมที่สุด 2. เรื่องสล็อตเวลาทางสายการบินต้องพิจารณาในเรื่องเวลาการบินถือเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งการจัดตารางการบินใน 1 วันควรมีทั้งขาไปและกลับได้เพื่อความสะดวกของประชาชนที่เดินทางด้วย และ 3. เรื่องการเดินทางจากตัวเมืองนครราชสีมามายังสนามบิน ซึ่งไกล 26 กิโลเมตร (กม.) ต้องมีระบบการขนส่งที่บริการให้แก่ประชาชนได้รับความสะดวกและใช้เวลาในการดำเนินการก่อนขึ้นบินที่ไม่ควรนานจนเกินไป
ด้าน นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึงเรื่องเดียวกันว่า ถือเป็นข่าวดีและเป็นเรื่องที่ดีมากที่จังหวัดนครราชสีมาจะมีสายการบินพาณิชย์เข้ามาทำการบิน เพราะโครงสร้างพื้นฐานของเรามีความพร้อมอยู่แล้ว และเรายินดีต้อนรับสายการบินนกแอร์ และนกแอร์เป็นสายการบินที่มีเครือข่ายมากสามารถปรับเปลี่ยนให้การเดินทางเข้าถึงวิถีชีวิตคนในปัจจุบันได้
ล่าสุดจังหวัดฯ ได้รับการประสานจากทางผู้บริหารนกแอร์ที่จะเข้ามาหารือข้อมูลรายละเอียดด้านต่างๆ เบื้องต้นนัดหมายประมาณ 26 ก.พ.นี้ ซึ่งจะดูวันที่เหมาะสมอีกครั้ง โดยในการหารือครั้งนี้จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง ขนส่งจังหวัด ตำรวจ ห้างสรรพสินค้า ท่าอากาศยานนครราชสีมา และหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เข้าร่วมด้วย ประเด็นการหารือเบื้องต้นจะเป็นเรื่อง ฝราคา และช่วงเวลาการบินที่เหมาะสม รวมทั้งเรื่องค่าธรรมเนียมการบิน สิทธิต่างๆ ที่นกแอร์จะเสนอ
สำหรับเส้นทางการบินทั้ง 3 เส้นทางที่ทางนกแอร์ได้รับใบอนุญาตนั้น เป็นเส้นทางที่เหมาะสมมากและเป็นเส้นทางที่เราคาดหวังอยู่แล้ว เพราะเป็นเป้าหมายการเดินทางของหลายๆ ภาคส่วนและชาวโคราชก็เดินทางกันมากอยู่แล้ว ปัจจุบันการเดินทางด้วยรถยนต์จากภาคอีสานไปยังภาคใต้ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 13 ชั่วโมง และเราจะลองหารือเส้นทางการบินโคราช-กรุงเทพฯ ด้วย เพราะขณะนี้ถนนสายสำคัญอยู่ระหว่างการก่อสร้างยังมีปัญหาและอุปสรรคในการสัญจรไปมาโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลต่างๆ รถติดสะสมเป็นระยะทางยาว
“จากประสบการณ์ที่ผมได้เดินทางไปจังหวัดน่าน ล่าสุด โดยใช้บริการของสายการบินนกแอร์ เป็นเครื่องบินขนาดที่นั่ง 80 ที่นั่ง ATR เป็นเครื่องบินขนาดกลาง ซึ่งมีความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัย คิดว่าหากนำมาใช้ในเส้นทางของโคราชไปยังจังหวัดต่างๆ นั้นน่าจะมีความเหมาะสม ทางสายการบินเองก็ไม่สิ้นเปลืองในเรื่องการบำรุงรักษา และต้นทุนในการบินแต่ละครั้งก็ไม่สูงจนเกินไป เพราะหากนำลำใหญ่มาบินอาจจะไม่คุ้มทุนและจะส่งกระทบต่อผลประกอบการระยะยาว” นายวิเชียรกล่าว
นายวิเชียรกล่าวอีกว่า วันนี้โคราชมีความพร้อมเต็มที่ ทั้งท่าอากาศยานนครราชสีมาที่มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งอาคารผู้โดยสาร สนามบิน อยู่แล้ว และชาวโคราชก็พร้อมสนับสนุนให้ความช่วยเหลือทางสายการบินและพร้อมไปใช้บริการ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยในเรื่องของอัตราค่าโดยสารที่ต้องไม่แพงจนเกินไป ตารางการบินในเวลาที่เหมาะสมด้วย และหากเป็นไปได้ ทางนกแอร์ควรเปิดบินปฐมฤกษ์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งจะเป็นช่วงที่เหมาะสมและจะมีผู้โดยสารใช้บริการจำนวนมาก
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในการหารือรายละเอียดกับทางจังหวัดนครราชสีมาครั้งนี้นั้น ทางสายการบินนกแอร์จะเสนอเรื่องการขอสิทธิพิเศษในเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยเฉพาะในด้านภาษี รวมทั้งขอสิทธิทำการบินในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา 7 ปี ซึ่งต้องไม่มีสายการบินอื่นมาเปิดทำการบินทับเส้นทางที่นกแอร์เปิดบิน พร้อมทั้งขอสิทธิบริหารเชิงพาณิชย์ภายในสนามบิน เพราะหากนกแอร์เข้ามาบริหารจะมีการขยายความยาวของรันเวย์ สร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ ปรับภูมิทัศน์ และอื่นๆ ภายในสนามบิน
ทั้งนี้ หากกรมท่าอากาศยานให้นกแอร์เข้ามาบริหารแทน นกแอร์เชื่อมั่นว่าจะทำทุกอย่างให้ดีที่สุด โดยในปัจจุบันมีสนามบินที่บริหารโดยสายการบิน เช่น สนามบินสมุย สนามบินสุโขทัย และสนามบินตราด เป็นต้น ซึ่งเป็นของบางกอกแอร์เวย์ส โดยนกแอร์ต้องการเช่นนั้น หากนกแอร์มาเปิดเส้นทางบินที่โคราชก็จะมีทั้งโรงซ่อม และศูนย์ฝึกอบรมลูกเรือของนกแอร์อยู่ที่โคราชด้วย พร้อมยังขอให้ศูนย์การค้าในโคราชตั้งจุดจำหน่ายตั๋วภายในห้างฯ รวมทั้งเวลาที่ห้างฯ จัดอีเวนต์หรือโปรโมชันต่างๆ อาจมีการลุ้นรางวัลตั๋วเครื่องบิน และมีรถรับส่งไป-กลับสนามบิน
สำหรับท่าอากาศยานนครราชสีมา หรือสนามบินหนองเต็ง ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติหนองเต็ง-จักราช ต.ท่าช้าง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา ห่างจากตัวเมืองนครราชสีมาไปทางทิศตะวันออก ถนนเพชรมาตุคลา (นครราชสีมา-บุรีรัมย์) ประมาณ 26 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 4,625 ไร่ เป็นท่าอากาศยานในสังกัดกรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม สร้างขึ้นเพื่อใช้แทนท่าอากาศยานกองบิน 1 นครราชสีมา ของกองทัพอากาศ ที่ใช้ในภารกิจทางการทหาร ที่ผ่านมามีสายการบินต่างๆ เช่น การบินไทย, แอร์อันดามัน, แอร์เอเชีย, แอร์ฟีนิคซ์, แฮปปี้ แอร์, ไทยรีเจียนอลแอร์ไลน์, กานต์แอร์ และนิวเจน แอร์เวย์ส มาเปิดเส้นทางบินแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ปัจจุบันท่าอากาศยานนครราชสีมาไม่มีเที่ยวบินพาณิชย์ให้บริการมานานเกือบ 4 ปี นับตั้งแต่สายการบินนิวเจนแอร์เวย์สทำการบินเป็นวันสุดท้ายเมื่อ 16 เม.ย. 2561