กาญจนบุรี - อาจารย์วิทย์เกษตร ม.มหิดล พบสาเหตุการขยายพันธุ์กล้วยด่างอินโดไม่แดง อาจจะมากจากหลากสาเหตุ การเพาะขยายพันธุ์จึงได้ใบที่มีลวดลายต่างๆ ไม่เหมือนกัน นั่นคือเสน่ห์ของไม้ด่าง
ดร.เนติยา การะเกตุ อาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตร์การเกษตร มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี เปิดเผยว่า จากกระแส ข่าวในปัจจุบัน เรื่อง Musa “Siam Ruby”? หรือต้นกล้วยแดงอินโดที่มีต้นแม่พันธุ์ลายเทพตีนตุ๊กแก พายุวากิว แหล่งรวมลายเทพ ไว้ในต้นเดียวมีมูลค่ามากกว่า 10 ล้านบาทต่อต้นเลยทีเดียว ผู้คนในวงการไม้ดอกไม้ประดับ รวมถึงไม้ใบต่างพากันค้นหากล้วยแดงอินโดกันมากมาย ในยุคโควิด-19 ผู้คนต่างหาทางเพิ่มรายได้ให้ครอบครัว ต้นกล้วยแดงอินโด อีกหนึ่งธุรกิจที่ยังเจริญเติบโตและเป็นที่ต้องการของตลาด โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชซึ่งในวงการไม้ทำกันมานานมาแล้วโดยส่วนใหญ่จะใช้เทคนิคนี้กับพืชเศรษฐกิจเช่น กล้วยไม้ กล้วยหอมทอง เป็นต้น และ “กล้วยแดงอินโด” ที่ราคาหลักล้านก็ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อด้วยเช่นกัน
การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อนี้คือ การเลี้ยงพืชในสภาวะปลอดเชื้อ คือไม่มีเชื้อรา เชื้อแบคทีเรียเลย ดังนั้น เราจะต้องฆ่าเชื้อในพืชเราให้หมดไปก่อนถึงจะประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งการทำไม่ยาก และไม่ง่าย เมื่อได้ขยายจำนวนเนื้อเยื่อในสภาพปลอดเชื้อได้จำนวนที่ต้องการแล้ว จากนั้นทำให้พืชมีรากที่สมบูรณ์และแข็งแรง จึงนำต้นกล้วยมาอนุบาล เมื่อต้นกล้วยมีใบใหม่แสดงให้เห็นว่ากล้วยแดงอินโดพร้อมออกไปอาบแดด จะสังเกตเห็นว่าในตอนเริ่มแรกเนื้อเยื่อกล้วยแดงอินโดไม่แดง
เมื่อกระบวนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อแข็งแรงดี (มีใบใหม่) แสดงให้เห็นว่ากล้วยแดงอินโดพร้อมออกไปตากแดด จะสังเกตเห็นว่าในเนื้อเยื่อกล้วยแดงอินโดไม่แดง แต่เมื่อต้นไม้โดนแสงแดดตอนเช้าไม่เกิน 10 โมง ภายใน 1 อาทิตย์ ต้นกล้วยจะแดง โดยไล่จากขอบใบแดง หลังใบ และหน้าใบแดง การนำต้นกล้วยไปอาบแดดใบกล้วยจะแดงขึ้น เริ่มมีการพัฒนาเม็ดสีทำให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น
แต่การแดงหรือไม่แดงนี่เกี่ยวกับพันธุกรรมของกล้วย เกิดจากการขยายปริมาณเนื้อเยื่อมาก ทำให้บริเวณที่มีเนื้อเยื่อเขียวเจริญเติบโตมาเป็นต้น จึงทำให้เนื้อเยื่อกล้วยแดงอินโด มีทั้งแดง ทั้งเขียว และอีกประเด็นที่สำคัญสำหรับผู้ที่ขยายพันธุ์พืชให้ความสนใจอย่างมากคือ สาเหตุที่ขยายพันธุ์กล้วยด่างอินโดไม่แดง เพราะอะไร
ดร.เนติยา กล่าวอีกว่า เนื่องจากตอนขยายพันธุ์ทำให้มีการแตกกอเยอะ จนพืชที่มีบริเวณสีเขียวแตกกอด้วย นั่นคือคือเหตุผลที่ทำให้บางส่วนแดง บางส่วนไม่แดง สรุปคือ ถ้าเนื้อเยื่อพืชมีส่วนที่เป็นสีแดงมากก็จะแดงมาก ถ้าได้แต่ส่วนที่เป็นสีเขียวก็จะเขียวล้วน แต่ถ้าได้ทั้ง 2 ส่วนมาอยู่ด้วยกันจะได้ครึ่งต้นเขียวครึ่งต้นแดง ซึ่งความเป็นไปได้มีหลากหลายมาก จึงได้ใบที่มีลวดลายต่างๆ ไม่เหมือนกัน เพราะความคลาสสิก Unique แปลกใหม่ให้ลุ้นตลอด มันคือของเสน่ห์ไม้ด่างนั่นเอง