ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - โคราชทุกภาคส่วนทำบุญครบรอบ 2 ปีอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้เสียชีวิตเหยื่อ “จ่าคลั่ง” กราดยิงโคราช 8-9 ก.พ. 63 มีผู้เสียชีวิต 30 ศพ ไม่รวมผู้ก่อเหตุ บาดเจ็บ 56 ราย เผยเยียวยารวมกว่า 160 ล้าน บรรจุทายาทรับราชการและรัฐวิสาหกิจ 31 ราย
วันนี้ (9 ก.พ.) เมื่อเวลา 14.30 น. ที่ศาลาการเปรียญ วัดป่าศรัทธารวม ต.หัวทะเล อ.เมือง จ.นครราชสีมา ทาง จ.นครราชสีมา ร่วมกับคณะสงฆ์จังหวัดนครราชสีมา โดย พระเทพสีมาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เจ้าอาวาสวัดบึงพระอารามหลวง และ หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม ร่วมเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และกองทัพภาคที่ 2 นำโดย พล.ต.สมบัติ จินดาศรี รองแม่ทัพภาคที่ 2 เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ได้จัดพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศให้กับผู้เสียชีวิต ครบรอบ 2 ปี จากเหตุการณ์จ่าคลั่งกราดยิง (จ.ส.อ.จักรพันธ์ ถมมา สังกัดค่ายสุรธรรมพิทักษ์ กองทัพภาคที่ 2) เมื่อวันที่ 8-9 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งเป็นเหตุการณ์กราดยิงที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย มีผู้เสียชีวิต 30 ราย (ไม่รวมผู้ก่อเหตุ)
มี นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา, ผู้บัญชาการกองบัญชาการช่วยรบที่ 2 ข้าราชการ ทหาร ญาติผู้เสียชีวิต พุทธศาสนิกชน และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประกอบพิธีบำเพ็ญกุศล อุทิศให้กับผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมดังกล่าวเป็นจำนวนมาก
สำหรับการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุกราดยิงเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 ทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวทั้งสิ้น 84 ราย แบ่งเป็น ผู้เสียชีวิต 28 ราย (ไม่เยียวยาผู้ก่อเหตุและต้นเหตุรวม 3 ราย) และผู้บาดเจ็บ 56 ราย จังหวัดนครราชสีมา ทางจังหวัดนครราชสีมา กองทัพภาคที่ 2 พร้อมด้วยหน่วยงานราชการ ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปได้ร่วมกันให้ความช่วยเหลือ และกำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือ ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ จนถึงปัจจุบัน ก.พ. 2565 ดังนี้
มาตรการเยียวยา ผู้เสียชีวิต 28 ราย ซึ่งได้รับเยียวยารายละ 3.2 ล้านบาท ถึง 8.7 ล้านบาท ตามเงื่อนไขรายบุคคล และผู้บาดเจ็บ 56 ราย ได้รับการเยียวยาแบ่งเป็นบาดเจ็บเสี่ยงพิการ 3 ราย ประมาณรายละ 3.7 ล้านบาท, บาดเจ็บหนัก (พักรักษาตัวเกิน 20 วัน) 12 ราย รายละ 6 แสนบาท ถึง 1.4 ล้านบาท, บาดเจ็บหนัก (พักรักษาตัวไม่เกิน 20 วัน) 5 ราย รายละประมาณ 6 แสนบาท, บาดเจ็บปานกลาง 13 ราย รายละประมาณ 3 แสนบาท และบาดเจ็บเล็กน้อย 23 ราย รายละประมาณหนึ่งแสนสองหมื่นบาท รวมกว่า 160 ล้านบาท
ในส่วนการบรรจุทายาทของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บสาหัสเข้ารับราชการ และรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งสิ้น 31 ราย ในส่วนของกองทัพบก จำนวน 28 ราย และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำนวน 4 ราย พร้อมให้การสนับสนุนทุนการศึกษาแก่ทายาทผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ โดยมูลนิธิเปรม ติณสูลานนท์ จำนวน 34 ทุน ตั้งแต่ปี 2563-2586 เป็นเงิน 1,040,000 บาท, บริษัท AIS ทุนการศึกษาตั้งแต่ประถมศึกษา-ปริญญาตรี จำนวน 11 ราย และเครือเจริญโภคภัณฑ์ ตั้งแต่ประถมศึกษา-ปริญญาตรี จำนวน 1 ราย
ในส่วนทางกรมบัญชีกลางได้อนุมัติเงินช่วยเหลือตาม พ.ร.บ.สงเคราะห์ผู้ประสบภัยฯ เนื่องจากการช่วยเหลือราชการการปฏิบัติงานของชาติ หรือการปฏิบัติหน้าที่มนุษยธรรม พ.ศ. 2543 ให้แก่ทายาท 3 รายผู้เสียชีวิตเป็นเงินชดเชย และผู้ได้รับบาดเจ็บเสี่ยงพิการ 1 ราย เป็นเงินชดเชยจากการบาดเจ็บ เงินชดเชยระหว่างรักษาพยาบาล รวม 520,000 บาท และเงินค่าดำรงชีพรายเดือน เดือนละ 7,500 บาท ย้อนหลังตั้งแต่ 8 ก.พ. 63 เป็นต้นมา
สำหรับมาตรการควบคุม/ป้องกัน คลังอาวุธ และคลังกระสุนวัตถุระเบิด ตามมาตรการรักษาความปลอดภัย มาตรการป้องกันการรั่วไหลของกระสุน และวัตถุระเบิด โดยการจัดชุดตรวจตรวจสอบมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง, มาตรการ รปภ.ค่ายสุรนารี, การปรับปรุงระบบเฝ้าตรวจ ระบบแจ้งเตือน จัดเวรยามหน้าคลังอาวุธ, ทหารยามประจำป้อมยาม หอตรวจการณ์ภายในคลังกระสุนและวัตถุระเบิด, ชุดสุนัขทหาร, กล้องวงจรปิด CCTV ติดตั้งระบบสัญญาณเตือนภัย และอื่นๆ
ในปัจจุบันกองทัพภาคที่ 2 ยังคงจัดผู้แทนหน่วยออกเยี่ยมบำรุงขวัญผู้ได้รับผลกระทบฯ ในเดือนที่ผ่านมา ได้เยี่ยมพบปะให้กำลังใจผู้ได้รับผลกระทบฯ จำนวน 21 ครั้ง รวม 21 ราย ซึ่งผู้ได้รับผลกระทบมีขวัญและกำลังใจดี