xs
xsm
sm
md
lg

กรมอุทยานฯ จับมือพันธมิตรอนุรักษ์และฟื้นฟูเสือโคร่งป่าตะวันตก จ.กาญจนบุรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กาญจนบุรี - กรมอุทยานฯ จับมือกับองค์กร IUCN WCS WWF PANTHERA มูลนิธิฟรีแลนด์ และมูลนิธิสืบฯ ร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟูเสือโคร่งป่าตะวันตก จ.กาญจนบุรี

วันนี้ (1 ก.พ.) นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) เปิดเผยว่า ตามนโยบาย ทส.เป็นหนึ่งเดียว และ ทส.ยกกำลังX ของนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และข้อสั่งการของนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้ยกระดับการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งในประเทศไทยนั้น โดยวันนี้ ตนเองพร้อมด้วย นางคณิสรา เชฐบัณฑิตย์ ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ และนายสิขกพงษ์ กระแจะจันทร์ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า ได้จัดประชุมแนวทางความร่วมมือในการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งในพื้นที่ป่าตะวันตกตอนใต้


โดยร่วมกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) แผนงานประเทศไทย มูลนิธิฟรีแลนด์ประเทศไทย องค์การแพนเทอราประเทศไทย สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) มูลนิธิสืบนาคะเสถียร กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติและหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในโซนป่าตะวันตกตอนใต้ เพื่อนำเสนอผลการสำรวจประชากรเสือโคร่งและเหยื่อในพื้นที่ผืนป่าตะวันตกตอนใต้ และระดมความคิดเห็นในการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งขึ้น

น.ส.สุปราณี กำปงชัน สำนักงาน IUCN แผนงานประเทศไทย กล่าวว่า จากงบโครงการสร้างความเข้มแข็งในการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งตามแนวชายแดนไทย-พม่า ที่ไม่สามารถดำเนินการในฝั่งพม่าได้ แต่จะมาดำเนินการในบริเวณอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ และอุทยานแห่งชาติลำคลองงู จังหวัดกาญจนบุรี ภายในปี พ.ศ.2565 นอกจากนั้น ยังมีแผนขอสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก GEF-8 ในการอนุรักษ์เสือโคร่งร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติฯ ในระยะยาว 10 ปี


ขณะที่ Mr.Tim Redford มูลนิธิฟรีแลนด์ประเทศไทย ได้รายงานผลการดำเนินโครงการประเมินประชากรเสือโคร่งและเหยื่อในอุทยานแห่งชาติเขาแหลม จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นผืนป่าตะวันตกตอนใต้ของประเทศไทย (WEFCOM) โดยยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ด้านตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่ทำกินของราษฎรบ้านปิล็อกคี่ อ.ทองผาภูมิ ที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลม

โดยจะเร่งดำเนินการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพเสือโคร่ง บริเวณป่าบ้านปิล๊อกคี่ ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลม โดยอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ และเขตป่ารอยต่อของประเทศไทย-พม่า จะเริ่มติดตั้งกล้องตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อดักถ่ายภาพเสือโคร่ง และเหยื่อในบริเวณดังกล่าว โดยนำข้อมูลมาวางแผนในการผลักดันเสือโคร่งเข้าป่าลึก รวมทั้งนำมาวางแผนอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งในเขตป่ารอยต่อชายแดนไทยและพม่าต่อไปด้วย


ส่วนนางกฤษณา แก้วปลั่ง องค์การแพนเทอรา ประเทศไทย กล่าวว่า พื้นที่การสำรวจประชากรเสือโคร่งในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมผืนป่าตะวันตกตอนใต้ โดยเสนอให้มีการประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่าศรีสวัสดิ์ เพื่อเป็นแนวเชื่อมต่อของสัตว์ป่า และหากมีแนวทางแก้ไขปัญหาภัยคุกคามของสัตว์ป่า อยากให้ดำเนินการพร้อมกันในทุกพื้นที่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมมีมติแนวทางดำเนินการ คือ 1.เห็นชอบให้ร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานแบบบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายในการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งและเหยื่อ ระยะเวลา 10 ปี โดยเสนอกรมอุทยานแห่งชาติฯ พิจารณาต่อไป 2.เร่งสำรวจข้อมูลวัว ควายในพื้นที่อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ในโซนป่าตะวันตก ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน เพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาในการเลี้ยงวัว ควายในป่าอนุรักษ์


และ 3.เมื่อได้ข้อมูลวัว ควายในเขตอุทยานแห่งชาติ และในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแล้ว จะดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูล โดยแยกข้อมูลว่าเป็นกลุ่มนายทุนนอกพื้นที่ที่จ้างให้ราษฎรในพื้นที่มาเลี้ยงวัว ควายในป่าอนุรักษ์ หากใช่ให้ดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด แต่ถ้าหากเป็นราษฎรในพื้นที่เป็นเจ้าของเลี้ยงวัว ควายในป่าตามวิถีชีวิตของชุมชนในป่า ให้หามาตรการที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวกับชุมชน รวมถึงออกประกาศห้ามเลี้ยงวัว ควายในเขตอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตกตอนใต้ทั้งหมด

เว้นแต่ในพื้นที่ผ่อนปรนตามมติ ครม. 30 มิ.ย.41 หากฝ่าฝืน มีความผิดตามมาตรา 21 ประกอบมาตรา 48 วรรคสอง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือมีความผิดตามมาตรา 55 (6) ประกอบมาตรา 102 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในการนี้ สำนักงานแผนงานประเทศไทย IUCN ได้ให้การสนับสนุนอุปกรณ์การลาดตระเวนเชิงคุณภาพ เช่น เป้ร็อกแซค เปลสนาม ฟลายชีท และหม้อสนาม จำนวนทั้งสิ้น 170 ชุด เพื่อมอบให้แก่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในพื้นที่โครงการ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน เสริมสร้างศักยภาพของเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น