xs
xsm
sm
md
lg

14 มกราคม วันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ “เรามีพื้นที่ป่า ร้อยละ 31.68”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทุกคนทราบดีว่า “ป่าไม้” เป็นทรัพยากรที่สําคัญของชาติ ให้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่ประชาชน ช่วยรักษาความสมดุลของภาวะแวดล้อมและป้องกันภัยธรรมชาติ (ลดก๊าซเรือนกระจก ต้นเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนโดยมนุษย์) ซึ่งทุกวันนี้นําความเสียหายอย่างร้ายแรง แก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชากรทั่วโลก

และสาเหตุที่ทําให้เกิดภัยธรรมชาติส่วนที่สำคัญมาจากน้ำมือของมนุษย์เรา! การลักลอบตัดไม้ ทําลายป่าจนทําให้เกิดความเสียหายต่อสภาพป่าไม้ของชาติ ทําให้เกิดความไม่สมดุลทางภาวะ แวดล้อม ทุกวันนี้ เห็นได้จากภัยทางธรรมชาติทวีความรุนแรงจนถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของมนุษย์ในวงกว้างขึ้น โดยมีทั้งส่งผลโดยตรง และทางอ้อม คือสภาพดินฟ้าอากาศเปลี่ยนไป


ข้อมูลป่าไม้ ประเทศไทย อ้างอิงจากรายงานสถานการณ์ป่าไม้ไทย ประจำปี 2562 – 2563 โดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร https://www.seub.or.th/document/ ปัจจุบันเรามีพื้นที่ป่าไม้ทั่วประเทศในปี พ.ศ. 2561 – 2562 จำนวน 102,484,072.71ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 31.68 ของประเทศ ซึ่งลดลงจากปี พ.ศ. 2560 – 2561 จำนวน 4,229.48 ไร่

หากพูดถึงนโยบายป่าไม้แห่งชาติที่กำหนดให้มีพื้นที่ป่าไม้ 40% ของพื้นที่ประเทศไทย ที่ออกเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 25% และพื้นที่ป่าเศรษฐกิจและป่าชุมชน 15% โดยพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 25% หรือ 81 ล้านไร่ ส่วนที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดูแล ปัจจุบันมีพื้นที่รับผิดชอบอยู่ประมาณ 73 ล้านไร่ (22.6 %) ของพื้นที่ประเทศ และส่วนที่ยังขาดอีก 7.75 ล้านไร่ (2.4%) อยู่ในกระบวนการรับมอบพื้นที่จากกรมป่าไม้ที่มีอยู่ประมาณ 7.7 ล้านไร่ ซึ่งจะได้ครบตามเป้า 25% ของพื้นที่ประเทศภายในปี 2569 ส่วนป่าเศรษฐกิจและป่าชุมชน 15% หรือ 48 ล้านไร่ : (กำลังจัดทำข้อมูล) อยู่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้

ทั้งนี้การที่จะรักษาพื้นป่าไทยให้ได้ครบตามเป้าหมาย 40% อาจจะต้องมุ่งไปที่ป่าเศรษฐกิจและป่าชุมชนโดยการปลดล็อกกฎหมายเพื่อให้คนหันมาสนใจในการปลูกป่าเศรษฐกิจมากขึ้นในพื้นที่ของตน หรือพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต หากสถานการณ์ป่าไม้ไทยลดลงไปกว่านี้ก็คงถูกทำลายโดยนโยบายของรัฐ เช่น การเพิ่มพื้นที่เขื่อน การตัดถนนผ่านป่า เป็นต้น


14 มกราคมของทุกปี วันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ

ย้อนกลับไปรำลึก! เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2532 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงลงพระปรมาภิไธย ในพระราชกําหนดแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 และพระราชกําหนดแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 พระราชกําหนดดังกล่าวได้ให้อํานาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวง เกษตรและสหกรณ์ โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีอํานาจสั่งการให้สัมปทานป่าไม้สิ้นสุดลง ทั้งแปลงได้ ดังนั้นการจัดวางโครงการทําไม้ทั่วประเทศต้องยุติลงทุกโครงการและทุกพื้นที่ เหตุเนื่องมาจากอุทกภัยภาคใต้ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2531 โดยเฉพาะที่ตําบลกระทุน อําเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช และวาตภัยจากพายุเกย์ที่จังหวัดชุมพร เมื่อพ.ศ. 2532

ต่อมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่าภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งมาจากสาเหตุการ ลักลอบตัดไม้ทําลายป่า จําเป็นต้องทําการรณรงค์ต่อเนื่องและระยะยาวให้ประชาชนได้เข้าใจ และให้ ความสําคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ โดยสร้างจิตสํานึกให้กับประชาชนเกี่ยวกับอันตรายที่อาจ เกิดขึ้นจากการตัดไม้ทําลายป่าเพื่อต้องการอนุรักษ์ป่าไม้ที่มีอยู่อย่างจํากัดมิให้ถูกทําลายต่อไป พร้อมทั้งได้กําหนดให้ช่วงปี 2532 - 2535 เป็น “ปีแห่งการป้องกันและอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ”

ในช่วงต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2533 กําหนดให้วันที่ 14 มกราคม ของทุกปี เป็น “วันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ”

โดยมีวัตถุประสงควัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนในชาติได้ระลึกถึงผลเสียที่เกิดจากการตัดไม้ทําลายป่าซึ่งทําให้ประชาชน จํานวนมากต้องสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน และเพื่อให้ประชาชนได้ระลึกถึงความสําคัญของงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ คือการที่รัฐบาลได้สั่งยกเลิกสัมปทานป่าไม้ทั่วประเทศไทยไปเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2532

ข้อมูลอ้างอิง
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร


กำลังโหลดความคิดเห็น