xs
xsm
sm
md
lg

แรงงาน จ.เพชรบุรีช่วยประชาชนตกงานจากพิษโควิด ผุดอาชีพใหม่ทอผ้าคลุมไหล่จากใยกล้วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เพชรบุรี - แรงงานจังหวัดเพชรบุรี จัดกิจกรรมพัฒนาทักษะฝีมือกลุ่มอาชีพช่างอุตสาหกรรมศิลป์ การออกแบบลวดลายและทอผ้าคลุมไหล่จากใยกล้วย ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภายใต้โครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านอาชีพจังหวัดเพชรบุรี

นายธรรมนูญ ศรีวรรธนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี น.ส.อนงค์นาถ มีศิริ แรงงานจังหวัดเพชรบุรี กลุ่มวิสาหกิจชุมชน หัวหน้าส่วนราชการ และประชาชนวัยหวาน ร่วมกิจกรรมพัฒนาทักษะฝีมือกลุ่มอาชีพช่างอุตสาหกรรมศิลป์การออกแบบลวดลายและทอผ้าคลุมไหล่จากใยกล้วย ภายใต้โครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านอาชีพจังหวัดเพชรบุรี ณ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนวัยหวาน ตำบลไร่ใหม่พัฒนา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

นายธรรมนูญ ได้พบปะพูดคุยกับประชาชนที่เข้ารับการฝึกอบรม และเยี่ยมชมการทอผ้าจากใยกล้วยหอมทอง การแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากกล้วยหอมทอง ซึ่งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนวัยหวาน จะนำทุกส่วนของกล้วยหอมทองทั้งต้น ใบ และผลมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น กล้วยตาก ผ้า กระเป๋า หมวก หรือแม้กระทั่งเซรั่มจากน้ำต้นกล้วย โดยมีแนวคิด จะต้องไม่มีขยะ ที่เป็นหนึ่งใน Project Zero Waste ของจังหวัดเพชรบุรี ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และเป็นกิจกรรมต้นแบบของทางจังหวัดเพชรบุรีที่เริ่มแล้วที่อำเภอชะอำ และหากสนใจสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากกล้วยหอมทอง สามารถติดต่อสั่งซื้อได้ที่ https://www.bananaindy.com/

น.ส.อนงค์นาถ มีศิริ แรงงานจังหวัดเพชรบุรี เปิดเผยว่า ทางกระทรวงแรงงานได้จัดโครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านอาชีพที่จะเป็นการช่วยประชาชนผู้ที่มีความเดือดร้อนจากการประสบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ผู้มีรายได้น้อย และผู้สูงอายุในจังหวัดเพชรบุรี เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในการดำรงชีพของตนเองและครอบครัว ซึ่งกระทรวงแรงงานได้มีกิจกรรม 2 กิจกรรมด้วยกันคือ 1.ในเรื่องของการจ้างงานเร่งด่วน คือการจ้างงานสำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน สามารถเข้ามาร่วมโครงการโดยการจ้างงานอัตราวันละ 300 บาทต่อคน ในการทำกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ และ 2.กิจกรรมพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน

โดยสำนักงานแรงงานจังหวัดเพชรบุรีได้เลือกจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะฝีมือ กลุ่มอาชีพช่างอุตสาหกรรมศิลป์การออกแบบลวดลายและทอผ้าคลุมไหล่จากใยกล้วย ณ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนวัยหวาน ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ โดยผู้ที่ได้รับการฝึกอาชีพจะได้มีความรู้ในการประกอบอาชีพเพิ่มมากขึ้น มีทางเลือกในการประกอบอาชีพ สามารถพึ่งพาตนเอง และสามารถช่วยเหลือกันในชุมชนท้องถิ่นที่จะเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ และมีรายได้ต่อไปในอนาคต








กำลังโหลดความคิดเห็น