จันทบุรี - เลขาธิการ ส.อุตฯ ก่อสร้างไทย แนะรัฐนำแรงงานลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายเข้าสู่กระบวนการที่ถูกต้อง แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก โดยเฉพาะภาคก่อสร้างที่ยังต้องการแรงงานอีกกว่า 300,000 คน เผยเตรียมเข้าพบ “ลุงตู่” เร็วๆ นี้
จากปัญหาการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายของแรงงานประเทศเพื่อนบ้านด้วยหวังเข้าหางานในภาคก่อสร้างและการผลิตต่างๆ ที่ขณะนี้ผู้ประกอบการไทยกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จนสร้างความยากลำบากให้หน่วยงานชายแดนของไทยที่ต้องเฝ้าระวังอย่างเต็มที่เพื่อป้องกันการนำเชื้อโควิดเข้ามาระบาดในประเทศนั้น
วันนี้ (24 ม.ค.) นายปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ออกมายืนยันว่าการลักลอบเข้าไทยของแรงงานต่างด้าวส่วนหนึ่งเกิดจากความต้องการแรงงานในภาคการผลิตและการก่อสร้างที่ยังมีอยู่สูง โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง ที่ขณะนี้ยังคงมีความต้องการแรงงานอีกไม่น้อยกว่า 200,000-300,000 คน
ขณะที่แรงงานข้ามชาติที่เคยเข้ามาทำงานในประเทศไทย และต้องเดินทางกลับบ้านเมื่อครั้งเกิดการแพร่ระบาดอย่างหนักของโรคโควิด-19 ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2563 ยังไม่สามารถเดินทางกลับเข้าไทยโดยถูกต้องตามกฎหมายได้อย่างเต็มที่
“ปัจจุบันกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมก่อสร้างได้พูดคุยถึงแนวทางแก้ไขปัญหาว่า รัฐบาลควรอนุญาตให้นำแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายและถูกกักตัวตามสถานที่ หรือศูนย์กักกันต่างๆ เข้ามาทำงานในภาคก่อสร้างก่อนเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยให้ผู้ประกอบการที่ต้องการแรงงานต้องดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนค่าใช้จ่ายในการตรวจโรค หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ต้องหารือร่วมกันว่าจะออกมาในลักษณะใด”
เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ยังเผยอีกว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมก่อสร้างจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดเกี่ยวกับการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในพื้นที่ ส่วนกรณีที่จะเสนอให้รัฐอนุญาตให้นำแรงงานต่างด้าวที่ถูกกักตัวอยู่ในประเทศเข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายนั้นได้มีการพูดคุยกันระยะหนึ่งแล้ว
เพราะผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมก่อสร้างต่างรอคอยแรงงานข้ามชาติที่เคยเข้ามาทำงานในประเทศให้กลับเข้ามาทำงานนานแล้ว และเมื่อสถานการณ์ขาดแคลนแรงงานในขณะนี้เริ่มรุนแรงขึ้น อยากให้รัฐเร่งพิจารณาในสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการ
“ในเร็วๆ นี้ สมาคมฯ จะขอเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ภาครัฐเร่งหาทางช่วยเหลือผู้ประกอบการเกี่ยวกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน รวมถึงการนิรโทษกรรมแรงงานที่อยู่นอกระบบให้ได้เข้าสู่ระบบ เนื่องจากรายได้ที่เกิดจากภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 8-9 ของ GDP” เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย กล่าว