เชียงใหม่ - ตะลึง! ทีมแพทย์โรงพยาบาลนครพิงค์ผ่าตัดสำเร็จรักษาผู้ป่วยชายอายุ 76 ปีเป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ พบมีขนาดใหญ่เส้นผ่านศูนย์กลางเกือบ 10 เซนติเมตร และน้ำหนักเฉียดครึ่งกิโลกรัม แนะประชาชนหมั่นสังเกตตัวเอง หากพบมีอาการปัสสาวะผิดปกติควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา
วันนี้ (21 ม.ค. 65) รายงานจากจังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่า โรงพยาบาลนครพิงค์ จังหวัดเชียงใหม่ ประสบความสำเร็จในการรักษาผู้ป่วยเป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ โดยทีมแพทย์ที่นำโดยนายแพทย์ ประพนธ์ เปี่ยมอนันต์ ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลนครพิงค์ ซึ่งทำการผ่าตัดนำนิ่วออกมาพบว่ามีขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10 เซนติเมตร และมีน้ำหนักเกือบครึ่งกิโลกรัม ส่วนอาการของผู้ป่วยดีขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้ เพจเฟซบุ๊ก “โรงพยาบาลนครพิงค์” โพสต์วานนี้ (21 ม.ค. 65) ระบุว่า “ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะบ่อยๆ อย่าละเลย อาจมีสาเหตุจากนิ่วในทางเดินปัสสาวะ
อาการปัสสาวะแสบขัด หรือกระเพาะปัสสาวะอักเสบนั้นเป็นอาการที่พบได้บ่อย หลายคนอาจจะไปพบแพทย์หรือซื้อยาปฏิชีวนะกินเอง ซึ่งอาการก็มักจะดีขึ้นและรักษาหายได้ไม่ยาก แต่หากมีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะซ้ำๆ กินยาแล้วไม่ดีขึ้น อย่าละเลย เพราะอาจจะมีสาเหตุจากนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะได้ เช่นกรณีผู้ป่วยรายนี้
ผู้ป่วยชายอายุ 76 ปีมีอาการปัสสาวะแสบขัด ปวดท้องน้อย มีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะหลายครั้ง ส่งมารักษาที่แผนกศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะ รพ.นครพิงค์ ตรวจเอกซเรย์พบว่ามีนิ่วในกระเพาะปัสสาวะขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลางเกือบ 10 ซม. ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะจึงได้ทำการผ่าตัดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะออก พบว่านิ่วมีขนาดใหญ่น้ำหนักเกือบครึ่งกิโลกรัม หลังผ่าตัดผู้ป่วยปัสสาวะโล่งดี ไม่พบการติดเชื้อแล้ว
โรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะพบได้ราวๆ 3-5% ของผู้ป่วยนิ่วในทางเดินปัสสาวะทั้งหมด โดยสถิติผู้ป่วยนอกของ รพ.นครพิงค์ในปี 2564 พบว่ามีผู้ป่วยนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ 240 ราย (นิ่วทางเดินปัสสาวะรวมทุกชนิด 7,451 ราย) โดยโรคนี้เกิดได้ 2 รูปแบบ คือ
1. เกิดจากการเป็นนิ่วในไตมาก่อนแล้วเลื่อนหลุดลงมาสะสมเพิ่มขนาดในกระเพาะปัสสาวะ
2. เกิดในกระเพาะปัสสาวะเอง ซึ่งในกรณีนี้มักพบร่วมกับโรคหรือภาวะที่ทำให้ขับปัสสาวะได้ไม่หมด เช่น ต่อมลูกหมากโต กระเพาะปัสสาวะพิการจากระบบประสาท ท่อปัสสาวะตีบ เป็นต้น
ผู้ป่วยจะมีอาการปัสสาวะกะปริดกะปรอย ปัสสาวะแสบขัด ปวดท้องน้อย ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะเป็นเลือด หากตรวจปัสสาวะอาจพบเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาวที่บ่งชี้ถึงการติดเชื้อ
การวินิจฉัยนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ สามารถทำได้จากการตรวจทางรังสี เช่น เอกซเรย์ อัลตราซาวนด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และการส่องกล้อง
การรักษานิ่วในกระเพาะปัสสาวะในปัจจุบันสามารถทำได้ทั้งการผ่าตัดส่องกล้องทางท่อปัสสาวะซึ่งเหมาะกับนิ่วที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ซม. การส่องกล้องทางหน้าท้อง และการผ่าตัดแบบเปิดซึ่งเหมาะกับนิ่วที่มีขนาดใหญ่ รวมไปถึงการรักษาโรคร่วมที่เป็นสาเหตุให้เกิดนิ่ว เช่น โรคต่อมลูกหมากโต ท่อปัสสาวะตีบ เพื่อป้องกันโอกาสที่จะเกิดนิ่วซ้ำ
หากท่านมีอาการข้างต้น หรือมีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะซ้ำๆ ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะกินเอง แนะนำให้มาพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของโรคและให้การรักษาที่เหมาะสมกับโรคต่อไป