xs
xsm
sm
md
lg

จนท.สนธิกำลังเร่งหาเสือโคร่งออกนอกเขตป่าห้วยขาแข้ง ล่าสุนัขชาวบ้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อุทัยธานี - เจ้าหน้าที่อนุรักษ์สัตว์ป่ายังต้องสนธิกำลังเร่งติดตามเสือโคร่งออกนอกเขตป่าห้วยขาแข้งล่าสุนัขชาวลานสัก หาทางจับปล่อยคืนผืนป่าให้เร็วที่สุด


กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เปิดเผยข้อมูลกรณีเสือโคร่งออกนอกพื้นที่ป่าห้วยขาแข้งก่อนเข้าไปในเขตท้องที่หมู่บ้านของชาวบ้านหมู่ที่ 9 บ้านบึงเจริญ ต.ระบำ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี เมื่อช่วงคืนวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา และได้ลากสุนัขของชาวบ้านไปกินด้วย

นายมีเดช เจริญกิจวนารักษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 เปิดเผยเกี่ยวกับกรณีเสือโคร่งออกนอกป่าห้วยขาแข้ง ว่า เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565 เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยไฟป่าห้วยขาแข้งพบเห็นเสือโคร่งในท้องที่หมู่ 9 บ้านบึงเจริญ ต.ระบำ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี ใกล้เคียงศูนย์วิจัยไฟป่าฯ ในช่วงเวลากลางคืน จึงได้ประสานงานกับสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ และพื้นที่เตรียมการประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำ เพื่อร่วมหาข่าวและตรวจสอบร่องรอยดังกล่าว

จากการตรวจสอบ พบรอยตีนเสือโคร่งบริเวณศูนย์วิจัยไฟป่าห้วยขาแข้งและพื้นที่ใกล้เคียงจริง จึงได้ให้เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเฝ้าระวังบริเวณรอยต่อระหว่างฝายน้ำล้นกับศูนย์วิจัยไฟป่าฯ ขณะที่เจ้าหน้าที่พื้นที่เตรียมการประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำ ได้แจ้งเตือนเจ้าของปศุสัตว์ในพื้นที่ใกล้เคียงให้เก็บสัตว์เลี้ยงอยู่ในคอกและเปิดไฟส่องสว่าง พร้อมตรวจตราพื้นที่เสี่ยงในบ้านบึงเจริญในช่วงคืนที่ผ่านมา ซึ่งเหตุการณ์ปกติ


ต่อมา (11 ม.ค. 65) ชุดลาดตระเวนและติดตามสัตว์ป่าได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่าเสือโคร่งได้เข้ามาล่าสุนัขและลากไปกินบริเวณสวนมะม่วงห่างจากสถานีควบคุมไฟป่าห้วยขาแข้งประมาณ 200 เมตร จึงได้ติดตามร่องรอยเสือโคร่ง ต่อมาเวลาประมาณ 10.00 น. ได้พบตัวเสือโคร่งเพศผู้อายุประมาณ 10 ปี เจ้าหน้าที่จึงได้เฝ้าระวังไม่ให้ประชาชนเข้าใกล้และควบคุมพื้นที่ไม่ให้เสือโคร่งออกมาในพื้นที่ชุมชนได้

พร้อมกันนั้น ได้สนธิกำลังเจ้าหน้าที่จากส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า นายสัตวแพทย์ประจำ สบอ.12 (นว.) สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และพื้นที่เตรียมการประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำ เพื่อตรึงกำลังและเตรียมเคลื่อนย้ายหากพบและจับตัวเสือโคร่งได้ เพื่อนำไปปล่อยในป่าอนุรักษ์ต่อไป

ทั้งนี้ ยังได้สั่งการให้การปฏิบัติงานต้องเป็นไปตามหลักวิชาการ และหลังจากนี้การจัดการสัตว์ป่าคำนึงถึงปัจจัยด้านจำนวนสัตว์ป่า และการครอบครองพื้นที่ของสัตว์ผู้ล่า รวมถึง Capacity ของสัตว์ป่าแต่ละชนิดด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น