นครปฐม - ส.ส.นครปฐม หารือรองอธิการ ม.ศิลปากร หาแนวคิดเส้นทางการศึกษา เข้าถึงคนรุ่นใหม่ ทำงานพัฒนาจังหวัดนครปฐมร่วมกัน
พ.ท.ดร.สินธพ (เสธ.แก้ว) ส.ส.นครปฐม เผยว่า จังหวัดนครปฐมเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีพื้นที่ติดกับกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหนึ่งในปริมณฑลที่กำลังมีการเติบโตในทุกมิติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากจะมีพื้นฐานดั้งเดิมที่เป็นพื้นที่สำคัญทางการเกษตร ยังมีการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ เป็นอีกแหล่งที่มีพื้นที่อุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่สิ่งที่เห็นถึงการพัฒนาของชุมชนที่เห็นได้ชัดนั่นคือ การเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยชื่อดังหลายแห่ง จังหวัดนครปฐมจึงถือเป็นเมืองแห่งการศึกษาที่สำคัญของประเทศ ปีหนึ่งมีการผลิตทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ และดูเหมือนว่าระบบการศึกษาจะถูกนำหลักการและผลงานการทดลอง วิจัยมาพัฒนาเพื่อนำมาใช้กับชุมชนเพื่อให้ทันกับยุคสมัยที่เดินหน้าเข้าสู่โลกยุคใหม่อย่างเต็มตัวในอีกไม่นาน
“ตนเองได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษา เพื่อยกระดับให้คนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสในการนำความรู้ ความสามารถ และแนวคิดใหม่ๆ มาจัดทำเป็นกิจกรรม เพื่อให้เกิดการพัฒนาในจังหวัดนครปฐม โดยเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่จะมีโอกาสนำสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในจินตนาการ ซึ่งได้รับการบ่มเพาะด้านภาควิชาการจากคณะครูอาจารย์ที่มีศักยภาพ ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์โดยองค์รวม และยังสามารถทำให้เกิดแนวคิดผสมผสานกับบุคคลที่มีประสบการณ์ในด้านต่างๆ ซึ่งจะเป็นอีกสิ่งที่จะทำให้จังหวัดนครปฐมได้พัฒนาไปอย่างมีระบบ และมีศักยภาพ ยกระดับเป็นเมืองที่น่าอยู่ได้อย่างยั่งยืนในอีกไม่ช้า
จึงได้เข้าพบและหารือกับ ศ.ดร.คณิต เขียววิชัย รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากรวิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ เพื่อหาข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดระบบการศึกษา และนโยบายการบริหารงานของมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งจะได้มีการนำไปปรับใช้กับการนำเสนอสู่สภาผู้แทนราษฎรในการผลักดัน และสนับสนุนการศึกษาในระดับจังหวัด และในระดับประเทศ รวมถึงในเวทีนานาชาติ ซึ่งปัจจุบันบุคลากรทางการศึกษาเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถสูง และมีจำนวนไม่น้อยที่เป็นคนรุ่นใหม่ มีพลังความคิด มีความสามารถที่พร้อมจะนำองค์ความรู้ที่มีมาใช้ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในจังหวัดนครปฐมได้เป็นอย่างดี และเปิดมุมมองว่าโลกยุคใหม่ คนรุ่นใหม่จะเป็นผู้สร้าง ส่วนคนรุ่นก่อนจะเป็นผู้ประคอง และชี้แนวทางให้เปรียบเป็นพี่เลี้ยงและทำงานควบคู่กันไป
ด้าน ศ.ดร.คณิต เขียววิชัย รองอธิการบดีวิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ เผยว่า การที่สมาชิกผู้แทนราษฎรได้เดินเข้ามาในรั้วมหาวิทยาลัยถือว่าจะเป็นการเปิดมุมมองซึ่งกันและกัน เนื่องจากทราบว่า พ.ท.ดร.สินธพ หรือ เสธ.แก้ว ได้จบการศึกษาระดับปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยชื่อดังระดับโลกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้านวิศวกรรม และยังได้มีประสบการณ์ในการทำงานขององค์กรระดับโลกมาแล้ว สิ่งเหล่านี้หากได้นำมาถ่ายทอดให้นักศึกษา จะเกิดประโยชน์มาก โดยตอนนี้มหาวิทยาลัยมีหลายโครงการที่กำลังดำเนินการให้ชุมชน ซึ่งประการหนึ่งที่ได้ตระหนัก คือ การสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักศึกษา รวมถึงบุคลากร
รองอธิการบดีวิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ เผยต่อว่า เรื่องหนึ่งคือการใช้รถใช้ถนนที่มีการเกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อยครั้ง บริเวณด้านหน้าของมหาวิทยาลัย โดยตอนนี้ได้มีการคิดและศึกษาเป็นอย่างดีในการจัดสร้างอุโมงค์สำหรับรอดใต้ถนนหลักเข้าสู่ในพื้นที่มหาวิทยาลัย จะทำให้ลดตัวเลขของการเกิดอุบัติเหตุได้มาก โดยยังคิดถึงชุมชน ซึ่งทางขึ้นและลงจะไม่ทำให้การจราจรของประชาชนบนท้องถนนติดขัด หรือเสี่ยงต่ออุบัติเหตุอีกด้วย โดยอยากจะฝากให้ช่วยเป็นกระบอกเสียงให้นักศึกษา ประสานงานและผลักดันให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ซึ่งจุดที่ตั้งเป็นพื้นที่เทศบาลนครนครปฐม ได้ทราบถึงปัญหาและนำเสนอแนวทางเพื่อบรรจุงบประมาณในแผนการพัฒนาพื้นที่จะทำให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาล
นอกจากนี้ การนำหลักวิชาการที่มหาวิทยาลัยได้เล็งเห็นถึงการจัดพื้นที่การแสดงผลงานด้านศิลปะ ด้วยการจัดเป็น Street Art ซึ่งเรามีหลายคณะที่มีศิลปินที่มีศักยภาพนำงานศิลปะมาเผยแพร่ได้ อีกเรื่องคือ การจัดสถานที่โบราณและมีประวัติศาสตร์บริเวณติดกับพื้นที่มหาวิทยาลัย คือ สระน้ำจันทร์ หรือชาวบ้านจะเรียกกันว่า สระบัว บริเวณดังกล่าวถ้ามีการจัดสถานที่เพื่อเปิดถนนคนเดิน เป็นถนนสายดนตรี นี่คือการนำวิชาการมาปรับใช้กับชุมชนได้อย่างลงตัว ซึ่งจะทำให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงศิลปะและทางดนตรี และจะทำให้เกิดงาน รายได้แก่ชุมชนได้ โดยเรายังมีทีมงานในการจัดทำแอปพลิเคชันที่มีความสามารถที่จะทำให้สามารถค้นหาข้อมูลต่างๆ เพื่อท่องเที่ยวต่อยอดในจังหวัดนครปฐมด้วย
โดยหลังเสร็จสิ้นการหารือและแลกเปลี่ยนแนวคิด รองอธิการบดีวิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ และผู้บริหารได้มีการนำคณะของ พ.ท.ดร.สินธพ และกลุ่มเพื่อน เสธ.แก้ว ได้นั่งชมการบริหารจัดการและการพัฒนาสถาบันในคณะต่างๆ หนึ่งในนั้นคือการบูรณะ “เรือนทับเจริญ” ซึ่งเป็นโบราณสถาน ซึ่งได้เตรียมจัดพื้นที่สำหรับจัดแสดงวัตถุโบราณและนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของจังหวัดนครปฐม ตั้งแต่ยุคอณาจักรทวารวดีที่มีอายุนับพันปี