อุบลราชธานี - สสจ.อุบลฯ เต้น สั่งโรงผลิตน้ำดื่มหมู่บ้านตามโครงการเศรษฐกิจฐานรากพลังประชารัฐ พบมีปลากัดเวียนว่ายในถังน้ำหยุดการผลิต จนกว่าขออนุญาตต่อ อย. พร้อมปรับคุณภาพน้ำและการบรรจุได้มาตรฐาน
จากกรณีมีการแชร์ภาพปลาในถังน้ำดื่มขนาดบรรจุ 10 ลิตร โดยระบุเป็นน้ำดื่มธรรมชาติที่นำมาขายให้ชาวบ้านใน ต.ท่าลาด อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี จนกลายเป็นเรื่องฮือฮาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง
ล่าสุดวันนี้ (20 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวได้เข้าไปดูข้อเท็จจริงที่บ้านท่าลาด ต.ท่าลาด อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี โดยพบกับนางวิลาวรรณ มัคคะที อายุ 43 ปี ซึ่งมีบ้านอยู่ตรงกันข้ามกับเพื่อนบ้านชื่อนายเปเปอร์ คนที่ได้รับถังน้ำดื่มที่พบมีปลาหมัด หรือปลากัด ปลาท้องถิ่นขนาดเล็กในถังบรรจุน้ำดื่มขนาด 10 ลิตร เล่าว่า เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา หลังรถส่งน้ำของหมู่บ้านนำถังบรรจุน้ำดื่มมาส่งให้ชาวบ้านที่สั่งซื้อ รวมทั้งบ้านของนายเปเปอร์ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามด้วย
ขณะที่นายเปเปอร์จะเปิดฝาถัง สังเกตเห็นเหมือนมีอะไรอยู่บริเวณก้นถังใส่น้ำ จึงเรียกกันมาดูก็พบเป็นปลาหมัด หรือปลากัดเวียนว่ายอยู่บริเวณก้นถังใส่น้ำ จึงได้โทรศัพท์ไปแจ้งผู้จัดการโรงผลิตน้ำของหมู่บ้านให้นำน้ำดื่มถังใหม่มาเปลี่ยน
เมื่อสอบถามที่มาของปลาดังกล่าว ทางโรงน้ำก็สันนิษฐานว่าอาจเป็นไปได้ที่รับถังน้ำที่ใช้แล้วกลับมาบรรจุใหม่ โดยคนงานอาจไม่ได้ล้างถังให้สะอาดก่อนบรรจุน้ำใหม่เข้าไป ทำให้มีปลาติดอยู่ในถังน้ำใบดังกล่าว
สำหรับโรงผลิตน้ำดื่มดังกล่าวเป็นโรงผลิตน้ำดื่มตามโครงการเพิ่มความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ หรือน้ำดื่มประชารัฐ ซึ่งหมู่บ้านได้รับงบประมาณมาจากรัฐบาลเพื่อมาตั้งเป็นโรงงานผลิตน้ำดื่มสะอาด กำลังผลิตวันละ 12,000 ลิตรบริโภคกันในหมู่บ้าน โดยใช้แหล่งน้ำจากโรงประปาหมู่บ้าน ทั้งผู้ผลิตและผู้ดื่มก็เป็นคนในหมู่บ้านท่าลาดไม่ได้ขายออกไปยังหมู่บ้านอื่น
ซึ่งต่อไปก็ยังต้องซื้อน้ำจากโรงผลิตแห่งนี้มาดื่มเช่นเดิม แต่อยากให้ผู้ผลิตมีมาตรการรักษาความสะอาดที่ดีกว่านี้ เพื่อสุขภาพของชาวบ้านตามเป้าหมายของโครงการด้วย เมื่อผู้สื่อข่าวไปดูโรงผลิตน้ำดื่มที่ผลิตออกมาขายให้ชาวบ้าน ปรากฏวันนี้โรงงานปิดไม่มีใครอยู่
ขณะเดียวกัน ในช่วงเย็นเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอวารินชำราบ ได้เข้าดูกระบวนการผลิตและพูดคุยกับผู้ดูแลการผลิตของโรงกรองน้ำดังกล่าว โดยให้คณะกรรมการที่ดำเนินการไปยื่นขออนุญาตการผลิตต่อ อย.จังหวัด แล้วดำเนินการปรับปรุงคุณภาพการผลิตน้ำดื่มให้สะอาดตามระเบียบของทางราชการ จึงจะอนุญาตให้เปิดดำเนินการ สำหรับช่วงนี้ให้หยุดกระบวนการผลิตทั้งหมด จนกว่าจะผ่านการตรวจสอบมาตรฐานของ อย.ก่อน