ศูนย์ข่าวขอนแก่น - เป็นที่ปลื้มปีติและได้รับคำชื่นชมเป็นอย่างมาก ภายหลังเว็บไซต์มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เผยแพร่เรื่องราวของบัณฑิตน้องใหม่จากรั้วสีอิฐ ผู้พิการทางร่างกาย 3 ท่านที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยรับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์ ในห้องรับรองเป็นการส่วนพระองค์ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประจำปีพุทธศักราช 2564 วันที่ 13 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก
โดยบัณฑิตป้ายแดงทั้ง 3 ท่านแม้ร่างกายจะพิการแต่ความวิริยอุตสาหะที่จะศึกษาร่ำเรียนร่วมกับผองเพื่อนในรั้วอุดมศึกษาแห่งนี้เกินร้อย สมควรได้รับการยกย่องให้เป็นไอดอลหรือต้นแบบให้แก่น้องๆ เยาวชนวัยเรียนได้เป็นอย่างดี
ท่านแรก น.ส.ปิยาภรณ์ จันทร์ขาว หรือชื่อเล่น “ปลาย” จบจากวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต ปลายเกิดและเติบโตที่อำเภอเมือง จ.บึงกาฬ มีคุณยายเป็นผู้ปกครองและเสาหลักส่งเสียดูแลเนื่องจากพ่อกับแม่แยกทางกัน ปลายเป็นเด็กเรียนดี จบมัธยมปลายสายคำนวณจากโรงเรียนบึงกาฬ ด้วยเกรดเฉลี่ย 3.64 เธอเลือกเข้าศึกษาต่อที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในโควตาโครงการนักศึกษาพิการ โดยความบกพร่องทางร่างกายคือแขนขวาพิการใต้ข้อศอกลงมา
แต่ความพิการไม่เป็นอุปสรรคในการเรียน โดยเฉพาะการเลกเชอร์ ปลายสามารถเขียนด้วยมือซ้ายอย่างคล่องแคล่ว ยกเว้นการทำแล็บ การใช้สารเคมี มักจะมีเพื่อนบัดดี้ช่วยเหลือ ช่วงเรียนปี 1 ด้วยความที่เธอชอบทำกิจกรรมมาก จึงเข้าร่วมทุกกิจกรรม ทั้งกิจกรรมของคณะ และกิจกรรมรวมของมหาวิทยาลัย จนมีหน่วยกิตภาคกิจกรรมมากถึง 70-80 หน่วยในปีแรก
ด้วยความใหม่ในรั้วอุดมศึกษาทำให้บริหารจัดการเรื่องเวลาเรียนและกิจกรรมไม่ลงตัว เลิกดึก พักผ่อนไม่เพียงพอ มีเวลาเข้าเรียนและอ่านหนังสือน้อย ทำให้เกรดออกมาค่อนข้างแย่ ถึงขั้นเกือบถูกรีไทร์
เมื่อปลายทบทวนข้อบกพร่องในการจัดการด้านเวลาจึงค้นพบว่าการรักษาสมดุลเป็นสิ่งสำคัญ เรียนและกิจกรรมไปด้วยกันได้ จึงใช้วิธีลงเรียนซัมเมอร์เกือบทุกเทอมเพื่อดึงเกรดขึ้น และทำกิจกรรมให้น้อยลง ในที่สุดเธอกอบกู้ผลการเรียนคืนมาได้ ไม่ต้องถูกรีไทร์
ปลายบอกว่า สภาพความพิการแขนขวาตั้งแต่ข้อศอกลงมา และฐานะทางบ้านไม่สู้ดีนักนั้นไม่เป็นอุปสรรคในการเรียน เพราะเธอพึ่งพาตัวเอง เช่น สอนพิเศษวิชาฟิสิกส์ให้น้องๆ และทำงานในโครงการจ้างงานกับกองกิจการนักศึกษา เข้าร่วมโครงการเบิกค่าเทอมของคนพิการจาก มหาวิทยาลัยขอนแก่นที่สนับสนุนโดย กระทรวง อว. สามารถแบ่งเบาภาระคุณยายได้มากทีเดียว
ปลายบอกว่า บุคคลสำคัญที่สุดสำหรับเธอคือ “ยาย” รู้สึกภูมิใจในตัวเองที่ทำให้ยายได้ภูมิใจในวันที่เธอเรียนจบและได้สวมชุดครุยเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร และตั้งใจว่าจะหางานทำที่มั่นคงที่สามารถดูแลตัวเองและดูแลยายซึ่งลำบากมามากแล้วให้ได้สบายในอนาคต นอกจากนี้ ปลายยังขอบคุณศูนย์บริการนักศึกษาพิการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่จัดเจ้าหน้าที่ดูแลนักศึกษาอย่างใกล้ชิด เป็นที่พึ่งทางใจของเหล่านักศึกษาพิการตั้งแต่ชั้นปี 1 จนสำเร็จการศึกษา เจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ ดูแลเป็นอย่างดี
“โดยเฉพาะพี่โอ๊ต หรือนางสาวปริยากร สบาย นักวิชาการศึกษา ศูนย์บริการนักศึกษาพิการ กองพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พี่โอ๊ตมีจิตอาสาการบริการให้แก่นักศึกษาพิการทุกคน จะคอยให้ความช่วยเหลือแนะนำให้คำปรึกษาในทุกเรื่องตั้งแต่เข้าปี 1 จนถึงวันรับปริญญา ขอบคุณจากใจมากจริงๆ” ปลายกล่าวย้ำ
บัณฑิตผู้พิการป้ายแดงท่านต่อมา นายไพฑูรย์ กุมแก้ว หรือ “อาร์ต” บัณฑิตวีลแชร์พลังบวก ทิ้งบัตรผู้พิการ ใช้ศิลปะสร้างตัว “อาร์ต” เป็นพี่ชายคนโต และมีน้องสาวที่มีความบกพร่องทางร่างกาย ในครอบครัวเล็กๆ ที่ จ.อำนาจเจริญ อาร์ตชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เช่นเด็กทั่วไปมาตั้งแต่เด็ก เมื่อถึงวัยรุ่นราว 18-19 ปีเกิดอุบัติเหตุทางรถจักรยานยนต์ ทำให้มีภาวะการเดินไม่แข็งแรง ผู้ปกครองตัดสินใจให้เรียนต่อชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนศรีสังวาลย์ขอนแก่น
แต่เรียนได้เพียงปีเดียว จึงคิดว่าต้องออกนอกกรอบไปเรียนที่โรงเรียนขามแก่นนคร ในชั้นมัธยม 5-6 ก้าวข้ามกำแพงคำว่า “ผู้พิการ” ออกมา และตัดสินใจทิ้งบัตรคนพิการ กระทั่งสามารถสอบเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้สำเร็จ เคราะห์ไม่ดีเกิดอุบัติเหตุตกบันไดอีกครั้ง เกิดอาการกระดูกทับเส้นประสาท ส่งผลให้ร่างกายท่อนล่างอ่อนแรงเฉียบพลันต้องนั่งวีลแชร์
อาร์ตเล่าว่า “ตอนนั้นเศร้าหนักมาก เพราะที่บ้านฐานะแย่ แถมมีน้องที่ร่างกายไม่แข็งแรงอยู่แล้ว เป็นห่วงว่าใครจะดูแลพ่อกับแม่ ใครจะดูแลน้อง แต่ในที่สุดก็หลุดความรู้สึกนั้นมาโดยความคิดว่าแม้จะใช้เท้าเดินไม่ได้ ก็จะใช้ล้อนำทางเป็นเหมือนคนปกติ ที่สำคัญ ในตอนที่เรียนอยู่มีเพื่อนที่ดีมาก คอยซัปพอร์ตทุกเรื่องตั้งแต่ปี 1 เป็นขาแทน เป็นคนสอนทุกอย่าง พาไปกินข้าว พาไปเรียน จนถึงพากลับหอพัก
อาร์ตบอกอีกว่า “พี่โอ้ต เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการนักศึกษาพิการ เป็นเหมือนแม่คนที่สอง ช่วยดำเนินการในเรื่องต่างๆ ให้ เป็นคนที่เข้าใจแต่ไม่ตามใจมาก ปล่อยให้พวกเราใช้ชีวิตอย่างเข้าใจว่าต้องโตไปเรื่อยๆ
กระนั้นก็ตาม แม้ฐานะทางบ้านจะไม่ค่อยดี แต่อาร์ตก็เลือกที่จะไม่ขอทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัย ไม่กู้เงินยืมเรียน กยศ. เพราะเชื่อมั่นในตัวเองว่า “ยังไหว” ยังสามารถหารายได้เพื่อดูแลตัวเองขณะเรียนได้ อยากเก็บโอกาสไว้สำหรับคนที่แย่กว่า รายได้หลักของอาร์ตจึงมาจากการรับจ้างทำบีต (Beat) หรือดนตรีสังเคราะห์ โดยเอาความรู้สึกพูดออกไปเป็น Melody ผ่านผลงานศิลปะออกไปสร้างรายได้ อัดเป็นเนื้อร้องหรือแต่งเนื้อร้องให้ลูกค้า นอกจากนี้ยังรับงานวาดภาพ ตัดต่อวิดีโอ เขียนบท แต่งรูป
ปัจจุบันอาร์ตทำงานเป็นครูอัตราจ้างในโรงเรียนที่บ้านเกิด จ.อำนาจเจริญ และด้วยความเป็นคนอยู่กับที่นานๆ ไม่ได้ ก็รอเวลาที่ชีพจรจะลงล้ออีกครั้ง
“บางคนที่เดินได้อาจจะไม่มีโอกาส สงสารคนที่ไม่มีแล้วเขาขอทุนไม่ได้ จากคนที่ยืมไปแล้วไม่คืน เราเลยอยากแบ่งที่ของเราไว้ให้คนที่เขาไม่มีจริงๆ ดีกว่า แรงบันดาลใจของความสำเร็จเป็นบัณฑิตในวันนี้ มาจากที่ความฝันของยายอยากเห็นคนในตระกูลเข้ารับปริญญาสักคน ได้สวมชุดครุย ในวันนี้ภูมิใจที่ตัวเองทำได้” หนุ่มอาร์ตกล่าวทิ้งท้ายด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม
บัณฑิตผู้พิการแต่กายที่น่ายกย่องอีกท่านคือ นายนิติศาสตร์ การถัก หรือ “ฟลุค” ศึกษาศาสตรบัณฑิต ว่าที่พ่อพิมพ์หนุ่ม ผู้มุ่งหวังส่งต่อแรงบันดาลใจให้นักเรียน
ในอดีตฟลุคเป็นเด็กร่างกายแข็งแรง อาศัยอยู่กับตายาย และพี่สาว 1 คน ใน อ.ห้วยผึ้ง จ.กาฬสินธุ์ เมื่อคราวเรียนอยู่ชั้น ป.6 เขาประสบอุบัติเหตุตกจากจักรยานยนต์ ส่งผลให้ขาอ่อนแรง กระทั่งได้เรียนต่อชั้นมัธยม 4 ที่โรงเรียนศรีสังวาลย์ขอนแก่น เมื่อเดินไม่ทันเพื่อน จึงนั่งวีลแชร์เป็นหลัก จึงกลายเป็นคนติดวีลแชร์ในที่สุด เข้าเรียนได้เพียง 1 เทอม จึงย้ายออกไปเรียนที่โรงเรียนขามแก่นนคร เพื่อเน้นด้านวิชาการ และได้รับโอกาสเข้าเรียนต่อระดับปริญญาตรีใน ม.ขอนแก่น
ภายในรั้วสีอิฐแห่งนี้ ฟลุคได้เจอกับเพื่อนๆ กลุ่มสัมพันธ์ในสาขาศิลปศึกษา เอาใจใส่อาหารการกิน จัดเวรมารับ-ส่ง ช่วงแรกเดินทางโดยมีเพื่อนช่วยยกวีลแชร์ขึ้นชัตเติลบัส แต่ด้วยความไม่สะดวกในการขึ้นลง ในช่วงชั้นปีที่ 2 เพื่อนจึงอุ้มขึ้นนั่งซ้อนมอเตอร์ไซค์รับ-ส่ง ฝากวีลแชร์ไว้ที่คณะฯ ซึ่งสะดวกมากขึ้น
ฟลุคบอกว่า โชคดีที่มีเพื่อนน่ารัก เอาใจใส่ ไม่คิดแบ่งแยกว่าเราเป็นผู้พิการ เพื่อนดูแลดีมาก แม้แต่การไปห้างสรรพสินค้าก็นั่งซ้อนมอเตอร์ไซค์ เมื่อถึงห้างเพื่อนจะแบกขึ้นหลัง แล้วพาเดินไปทั่วทุกชั้น นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากศูนย์บริการนักศึกษาพิการ บริการยืมวีลแชร์ เครื่องบันทึก หรือการเบิกคืนค่าเทอม
ฟลุคบอกว่า เป้าหมายชีวิตหลังเรียนจบ เขาอยากทำงานในสถานศึกษาพิเศษที่มีการอำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการ และเป็นแรงบันดาลใจ เป็นกำลังใจให้ผู้ปกครองเห็นศักยภาพของเด็กพิเศษ หรืออีกนัยหนึ่งก็อยากที่จะอยู่กับโรงเรียนปกติ คือให้เด็กได้เห็น และยอมรับข้อแตกต่างระหว่างบุคคล
เพราะต้องพบเจอกับคำว่า “ยาก” เป็นบททดสอบมาเกือบทั้งชีวิต แต่เขาก็สามารถข้ามผ่านมาได้ด้วยพลังบวกที่นับเป็นความ “โชคดี” ทั้งจากเพื่อน ครอบครัว อาจารย์ และโอกาสจากทางคณะ ที่คอยเคียงข้างจนทำให้เขามาถึงเส้นชัย โดยเฉพาะ “เพื่อน” ที่บัณฑิตพิการรายนี้กล่าวถึงด้วยน้ำเสียงตื้นตันว่า “อยากขอบคุณเพื่อนมากที่สุด ขอบคุณที่ดูแลเราทุกอย่าง ขอบคุณที่ไม่ว่าจะไปไหนก็พาเราไปด้วย ถ้ามีโอกาสก็อยากจะตอบแทน เวลาที่เขามีปัญหาก็อยากจะให้นึกถึงเรา”
ส่วนการสนับสนุนของมหาวิทยาลัยนอกจากการมีศูนย์บริการนักศึกษาพิการ ที่คอยอำนวยความสะดวกแล้ว นักศึกษาทั้ง 3 ท่านสะท้อนเป็นเสียงเดียวกันว่า อยากให้เพิ่มการอำนวยความสะดวกในด้านการเดินทาง คมนาคม สถานที่ ให้เอื้อมากพอสำหรับนักศึกษาพิการ เช่นทางลาดแม้จะมีอยู่แล้ว แต่อาจจะสูงชันเกินไปอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
ด้าน ผศ.นพ.ธรา ธรรมโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การดูแลผู้พิการนั้น สอดคล้องโดยตรงกับนโยบายของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3 กลยุทธ์ที่ 2 เรื่องการดูแลและการให้บริการสังคม ปัจจุบันมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้นำเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ Sustainable Development Goal มาเป็นกรอบในการดำเนินการบริหารงาน ซึ่งกรอบดังกล่าวมี SDGs ที่เกี่ยวข้องกับผู้พิการ 2 SDGs คือ SDGs 4 เรื่องการศึกษา และ SDGs 8 เรื่องการจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยขอนแก่นมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวทางของสหประชาชาติ
“มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการดำเนินการด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เนื่องจากมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการในเรื่องนี้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาในด้านนโยบาย องค์ความรู้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ การพัฒนาในด้านอาชีพ การพัฒนาในด้านคุณภาพชีวิต การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก” ผศ.นพ.ธรากล่าว และว่า
จากความร่วมมือดังกล่าว เราจะพัฒนาต่อยอดเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีการปรับนโยบาย การรับคนพิการทั้งนักศึกษา บุคลากร มีอาจารย์สาขาต่างๆ มาระดมสมองเพื่อเป็นองค์ความรู้ แนวทางในการพัฒนาอย่างรอบด้าน ซึ่งโครงการที่เกี่ยวข้องกับผู้พิการ และมีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในขณะนี้ เช่น การปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกที่มากเพิ่มขึ้น ด้านการรับนักศึกษา การรับบุคลากรใหม่ ด้านสวัสดิการและสิทธิประโยชน์
นอกจากนี้ จะมีการสำรวจคนพิการใหม่ เนื่องจากความพิการมีหลายระดับ แต่เดิม เราสามารถตรวจจับได้เฉพาะกรณีที่เห็นอย่างชัดเจน เช่น แขนขาด ขาขาด ตาบอด แต่ในความเป็นจริงแล้วความพิการที่มีระดับมากกว่านั้น เช่น ตาฝ้าฟาง มือใช้งานไม่ได้บางส่วน ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา หรือบุคลากร เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงนโยบาย สิ่งอำนวยความสะดวกมากเพิ่มขึ้น
ขอบคุณข้อมูลและภาพจากกองสื่อสาร มข.