เชียงราย - อนาคตท่าเรือแม่น้ำโขงเชียงแสน 1 ยังมืดมน หลังต้องปิด-งดใช้งานช่วงวิกฤตโควิดจนร้างมานาน ล่าสุด ทต.เวียงเชียงแสนสั่งยกเลิกบอร์ดบริหารยกกระบิ อ้างไม่มีกฎหมายรองรับให้คนนอกทำ-ตรวจสอบไม่ได้ จ่อพัฒนาเป็นแลนด์มาร์กใหม่เชียงแสน แต่เรื่องยังค้างอยู่ ป.ป.ช.
รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้ นางเกศสุดา สังขกร นายกเทศมนตรีตำบลเวียงเชียงแสน จ.เชียงราย ได้มีหนังสือคำสั่งยกเลิกคณะกรรมการบริหารท่าเรือแม่น้ำโขงเชียงแสนแห่งที่ 1 แล้ว หลังกรมเจ้าท่าส่งมอบพื้นที่ให้เทศบาลฯ เข้าบริหารจัดการท่าเรือฯ ซึ่งตั้งอยู่ชายแดนไทย-สปป.ลาว หมู่ 6 ต.เวียง อ.เชียงแสน มาตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา
ขณะที่สภาพของท่าเรือในปัจจุบันกลับมีการปิดประตูเอาไว้อย่างแน่นหนา ไม่มีคนเข้าออก ทำให้ทรุดโทรมอย่างเห็นได้ชัด แตกต่างจากในอดีตที่เคยมีเรือขนส่งสินค้าเข้าออกอย่างคึกคักและต่อมาถูกใช้เพื่อการเทียบท่าของเรือท่องเที่ยวต่างๆ จนแทบไม่น่าเชื่อว่าเป็นท่าเรือที่คณะรัฐมนตรีหลายชุดเคยประกาศให้เป็นท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยว
นางเกศสุดาเปิดเผยว่า เนื่องด้วยเทศบาล ต.เวียงเชียงแสนมีงบประมาณจำกัด แต่ต้องการที่จะสร้างสถานที่ให้เป็นศูนย์กลางหรือแลนด์มาร์กด้านการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ เพื่อให้สอดรับการจัดงานมหกรรมไม้ดอกของ จ.เชียงราย และเห็นว่าพื้นที่ท่าเรือแม่น้ำโขงเชียงแสนแห่งที่ 1 ซึ่งทางคณะรัฐมนตรีมอบให้เทศบาล ต.เวียงเชียงแสนบริหารจัดการสามารถพัฒนาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้
แต่ผู้บริหารเทศบาล ต.เวียงเชียงแสนชุดเดิมโดยความเห็นชอบของสภาเทศบาล ต.เวียงเชียงแสน ได้แต่งตั้งคณะบุคคลเข้าไปดูแลท่าเรือดังกล่าว ทำให้เทศบาลฯ ไม่สามารถเข้าไปพัฒนาได้ คณะผู้บริหารเทศบาล ต.เวียงเชียงแสนชุดใหม่ที่มีตนเป็นนายกเทศมนตรีจึงได้มีหนังสือคำสั่งแจ้งยกเลิกคณะกรรมการบริหารท่าเรือ ที่ 2336/2564 ลงวันที่ 18 พ.ย. 2564 เพราะได้สอบถามผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้องและศึกษาแล้วเห็นว่าการที่ท้องถิ่นจะมอบให้บุคคลอื่นเข้าไปดำเนินกิจการแทนในลักษณะนี้ไม่มีกฎหมายรองรับ
นางเกศสุดากล่าวว่า การแต่งตั้งกลุ่มบุคคลเข้าไปบริหารท่าเรือดังกล่าว ทำให้เกิดข้อจำกัดต่อเทศบาล ต.เวียงเชียงแสน ในการจะเข้าไปดูแลและบริหารรวมถึงเรื่องการตรวจสอบรายได้ด้วย ทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อเทศบาลฯ ขณะที่ท่าเรือแม่น้ำโขงกลับไม่ได้ให้ประโยชน์ต่อประชาชนในท้องถิ่นหรือประโยชน์ในทางสาธารณะเลย ดังนั้นตนจึงได้มีหนังสือคำสั่งดังกล่าว เพื่อจะได้นำท่าเรือกลับเข้าสู่ระบบการเงินการคลังของเทศบาล ต.เวียงเชียงแสน และสามารถพัฒนาให้เกิดประโยชน์ในทางสาธารณะต่อไป
อย่างไรก็ตาม หลังเทศบาลฯ มีหนังสือคำสั่งดังกล่าว มีรายงานว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการบริหารท่าเรือแม่น้ำโขงเชียงแสนแห่งที่ 1 ซึ่งได้รับอนุญาตจากผู้บริหารเทศบาล ต.เวียงเชียงแสนชุดเดิม ให้เข้าไปบริหารจัดการท่าเรือได้ทำเรื่องอุทธรณ์คำสั่งแล้ว ขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานปัองกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
สำหรับท่าเรือแม่น้ำโขงเชียงแสนแห่งที่ 1 นั้น กระทรวงคมนาคมได้สร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2546 เพื่อใช้เป็นท่าเรือขนส่งสินค้าในแม่น้ำโขง ต่อมามีเรือสินค้ามากขึ้นจนแออัด ประกอบกับท่าเรือตั้งอยู่ในเขตเมืองประวัติศาสตร์เชียงแสนที่มีโบราณสถานทำให้ขยายพื้นที่ไม่ได้ กระทรวงคมนาคมจึงสร้างท่าเรือแห่งที่ 2 ที่ ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน เพื่อใช้รองรับการเดินเรือสินค้าในแม่น้ำโขง โดยเริ่มก่อสร้างในปี 2550 แล้วเสร็จปี 2554
ส่วนท่าเรือเชียงแสน 1 คณะรัฐมนตรีมีมติหลายครั้งให้เปิดเป็นท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยวเชื่อมกับกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน โดยครั้งแรกมอบหมายให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เข้าไปบริหารจัดการ แต่ทาง ททท.แจ้งว่าไม่มีความพร้อม จึงมีการมอบให้เทศบาล ต.เวียงเชียงแสนดำเนินการแทน ซึ่งผู้บริหารเทศบาล ต.เวียงเชียงแสนชุดก่อนได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารท่าเรือ ก่อนเปิดทางให้เอกชนเข้าไปดำเนินการ แต่ผู้บริหารเทศบาล ต.เวียงเชียงแสนชุดใหม่ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือน มี.ค. 2564 มีคำสั่งยกเลิกดังกล่าว