อุดรธานี - สุโก้ย! แดนอีสานก็ปลูกข้าวญี่ปุ่นได้ อดีตแรงงานไทยแดนปลาดิบติดใจรสชาติข้าวญี่ปุ่น หลังจากเดินทางกลับบ้านเกิดจึงทดลองปลูกข้าวญี่ปุ่นแบบอินทรีย์ในที่นาเพื่อบริโภคในครัวเรือน เผยช่วงหลังมีคนสนใจสั่งซื้อทางออนไลน์ไปกินเพิ่มขึ้น อนาคตอันใกล้นี้มีแผนต่อยอดเพิ่มมูลค่าผลผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สบู่-น้ำนมข้าวญี่ปุ่น
“ข้าวญี่ปุ่น” ได้รับความนิยมการปลูกในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นในระยะหลังในเขตทางภาคเหนือ เช่น เชียงราย ลำพูน เชียงใหม่ ฯลฯ เนื่องจากข้าวสายพันธุ์นี้เติบโตได้ดีในสภาพอากาศค่อนข้างหนาวเย็น ลักษณะเด่นของข้าวญี่ปุ่นลำต้นเตี้ย เมล็ดป้อมสั้น เมื่อหุงให้สุกแล้วจะมีความหยุ่นเหนียวและนุ่มละมุนลิ้น กระแสความนิยมปลูกและบริโภคในไทยในห้วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพราะมีกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี จีน เข้ามาท่องเที่ยวในไทยจำนวนมาก ร้านอาหารญี่ปุ่นจึงเป็นช่องทางจำหน่ายข้าวญี่ปุ่นของผู้ผลิตในไทย และล่าสุดในภาคอีสานของไทยก็มีเกษตรกรปลูกข้าวญี่ปุ่นบ้างแล้วเช่นกัน
นายเสกสรร โพธิสาร อายุ 43 ปี ชาวบ้านสร้างก่อ อ.กุดจับ จ.อุดรธานี เปิดเผยถึงแรงบันดาลใจในการปลูกข้าวญี่ปุ่นว่า เนื่องจากก่อนนั้นหลายปีเคยไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น ได้ไปกินข้าวญี่ปุ่นที่มีรสชาติอร่อย หลังกลับมาจากประเทศญี่ปุ่นจึงมีแนวคิดที่จะเอากลับมาปลูกที่บ้านเกิดเพื่อเอาไว้กินเอง จึงได้ค้นหาพันธุ์ข้าวมาเพาะปลูก พันธุ์ข้าวที่เลือกคือ สายพันธุ์ Koshihikari (โคชิฮิคาริ) ซึ่งเรารู้มาก่อนแล้วว่าข้าวพันธุ์นี้เป็นข้าวเบอร์ 1 และยังเป็นพันธุ์ที่ได้รับความนิยมที่ญี่ปุ่น
ตอนแรกสั่งมาลอง 1 กรัม ราคา 1,600 บาท โดยทดลองปลูกในระบบโรงเรือนก่อน เมื่อได้ผลจึงนำมาขยายปลูกในพื้นดิน ใช้เวลาลองผิดลองถูกอยู่ 2 ปี จนประสบความสำเร็จ สามารถปลูกข้าวได้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ และมั่นใจได้ว่าข้าวญี่ปุ่นสามารถปลูกที่ประเทศไทยได้
“พื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดมี 4 ไร่ หมุนเวียนการปลูก โดยแต่ละรอบนั้นจะแบ่งปลูกเป็นรอบละ 2 งาน ให้ได้ตลอดทั้งปี ผลผลิตที่ได้เฉลี่ยประมาณ 6-7 ร้อยกิโลกรัมต่อไร่ ข้าวญี่ปุ่นของเราผลิตแบบอินทรีย์ ที่สำคัญเราจะไม่ปลูกข้าวปนกับข้าวพันธุ์อื่นเพื่อเป็นการป้องกันการข้ามสายพันธุ์” นายเสกสรรกล่าว และว่า
ในส่วนของการตลาดหรือการจำหน่ายผลผลิตนั้น ช่วงแรกเราคิดจะปลูกไว้กินเอง ช่วงหลังมีคนรู้จักมากขึ้นก็เริ่มประกาศขายทางสื่อออนไลน์ มีคนสนใจซื้อไปกินจำนวนไม่น้อย นอกจากนี้ยังมีคนสนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้ในวิธีการปลูกอีกด้วย อนาคตจึงวางแผนไว้ว่าอาจจะแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น สบู่หรือน้ำนมข้าว ฯลฯ ตอนนี้ทำเพียงแค่เป็นข้าวสารและข้าวเปลือกเท่านั้น ราคาจำหน่ายข้าวเปลือกจำหน่ายราคา 500 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนราคาข้าวสาร จำหน่ายกิโลกรัมละ 100 บาท
ปัญหาจากการปลูกข้าวญี่ปุ่นที่พบส่วนใหญ่ นายเสกสรรบอกว่ายังคงเป็นศัตรูเจ้าประจำของนาข้าว นั่นก็คือ นก แก้ไขโดยการใช้ตาข่ายคลุมไว้เพื่อป้องกันนก ส่วนโรคที่มีในพืชนั้นมีน้อยมาก เพราะปลูกระบบอินทรีย์ มีเพียงโรคราน้ำค้างเท่านั้น แต่ตนก็สามารถจัดการได้ด้วยการใช้น้ำหมักและน้ำส้มควันไม้ฉีดพ่นเพื่อเป็นการป้องกัน
“ขอฝากไปยังเพื่อนเกษตรกรที่กำลังมองหาพืชที่จะปลูก หากเป็นข้าวควรปลูกข้าวที่มีมูลค่าสามารถกินเองและทำตลาดในชุมชนเราได้ และหากใครมีความรู้ความสามารถก็ต่อยอดเพิ่มเติมไปได้อีก อย่าหยุดพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และหากสนใจปลูกข้าวญี่ปุ่น ตนก็พร้อมจะบอกเล่าแนะนำวิธีการปลูก สอบถามข้อมูลได้ที่ Facebook เสกสรร โพธิสาร"