กาฬสินธุ์ - ระดมสรรพกำลังทุกภาคส่วนซ่อมพนังกั้นแม่น้ำชีขาดยาวกว่า 25 เมตร ล่าสุดเจ้าหน้าที่สามารถปิดกั้นทางน้ำทะลักได้สำเร็จ หลังซ่อมทั้งวันทั้งคืน เตรียมเสริมดินและหินป้องกันพนังขาดซ้ำ คาดแล้วเสร็จภายในวันนี้
เบื้องต้นมีพื้นที่นาข้าวของเกษตรกรถูกน้ำท่วมแล้วกว่า 3,500 ไร่
จากกรณีพนังกั้นแม่น้ำชีบริเวณบ้านแจ้งจม หมู่ 7 ต.เจ้าท่า อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ขาดเป็นทางยาวกว่า 10 เมตร เมื่อช่วงเช้าวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ก่อนจะขยายวงกว้างเพิ่มยาวกว่า 25 เมตร ส่งผลให้มวลน้ำทะลักเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรเป็นบริเวณกว้าง พร้อมเตือนประชาชนพื้นที่รับน้ำนำสัตว์เลี้ยงและขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง โดยทางนายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ ลงพื้นที่ พร้อมระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งนำเครื่องจักรเข้าซ่อมอุดรอยขาด ตามข่าวที่เสนอแล้วนั้น
ล่าสุดเมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่สามารถปิดกั้นทางน้ำด้านนอกกันมวลน้ำชีที่ไหลทะลักเข้ามาได้แล้วแต่ยังไม่สนิท เนื่องจากช่วงบริเวณที่พนังขาดได้ถูกกระแสน้ำกัดเซาะเป็นทางยาวจากเดิม 10 เมตร กว้างขึ้นกว่า 25 เมตร และยังมีความลึก อีกทั้งกระแสน้ำค่อนข้างไหลเชี่ยว โดยตลอดทั้งวันทั้งคืนที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเครื่องจักรเข้าซ่อม พร้อมนำกิ่งไม้ ก้อนหินขนาดใหญ่ ตะแกงตาข่าย และบิ๊กแบ็กวางปิดหัวคันกั้นน้ำไว้เพื่อเบี่ยงทางน้ำและป้องกันกระแสน้ำไหลทะลักเข้ามาได้แล้ว
ขณะนี้อยู่ระหว่างการขนย้ายหินใหญ่ และดินทรายเอามาใส่บิ๊กแบ็กเสริมและอุดรอยรั่วเชื่อมทางข้ามชั่วคราว หลังจากนั้นจะใช้ผ้า PU อุดน้ำไม่ให้ไหลแล้วจะถมดินต่อไป
นายธนทร ศรีนาค หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ขณะนี้การซ่อมแซมพนังที่ขาดมีความคืบหน้าไปมากแล้ว โดยสามารถปิดหัวคันกั้นน้ำได้แล้ว แต่ยังไม่สนิท เนื่องจากมวลน้ำมีจำนวนมากและกระแสน้ำค่อนข้างไหลแรง ซึ่งต่อไปเจ้าหน้าที่จะนำหินใหญ่ และดินทรายเอามาใส่บิ๊กแบ็กเสริมคันพนัง และเร่งอุดรอยรั่ว ดำเนินการเชื่อมทางข้ามชั่วคราว คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในวันนี้ อย่างไรก็ตามสำหรับผลกระทบจากเหตุการณ์พนังกั้นแม่น้ำชีขาดนั้นบ้านเรือนประชาชนยังไม่ได้รับผลกระทบ
แต่มีพื้นที่การเกษตร ส่วนใหญ่เป็นนาข้าวของเกษตรกรในพื้นที่รับน้ำถูกน้ำท่วมแล้วประมาณ 3,500 ไร่ และอยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหายเพิ่มเติม ซึ่งทางนายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการซ่อมแซมพนังให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และเข้าสำรวจความเสียหายพื้นที่ของเกษตรกร ซึ่งหากได้รับความเสียหายให้เร่งดำเนินการช่วยเหลือตามขั้นตอนต่อไป