ภาคเหนือ - เผยเจอทั้งฝนตกถี่ยิบ น้ำท่วม แดดฟาดแรง แถมน้ำมันแพงซ้ำ..ทำราคาผักแพงยกแผงตั้งแต่หน้าสวน ตลาดขายส่งในพื้นที่แหล่งผลิต กระทบยันก้นครัว ร้านแกงถุง-อาหารตามสั่งอ่วมกันเป็นแถว
สถานการณ์ราคาผักสดตามแผงผักในตลาดต่างๆ จนถึงขณะนี้ยังคงแพงต่อเนื่อง โดยเฉพาะผักชีที่วางขายบนแผงผักตลาดสดเทศบาล 2 เมืองอุทัยธานี มีราคาขายส่งพุ่งขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 380 บาท จากปกติกิโลกรัมละ 100 กว่าบาทเท่านั้น
รวมถึงผักขึ้นฉ่าย ตอนนี้ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 280 บาท ผักกาดขาวขยับขึ้นมาเป็นกิโลกรัมละ 60 บาท และมะเขือเจ้าพระยาขยับขึ้นมาเป็นกิโลกรัมละ 50 บาท ซื้อยกถุง 10 กิโลกรัมอยู่ที่ราคา 430 บาท จากปกติที่เคยซื้อแค่ในราคาถุงละ 150 บาท ส่วนคะน้าและกวางตุ้งก็ขยับขึ้นมาด้วยเช่นกัน ตอนนี้ราคา กวางตุ้งอยู่ที่กิโลกรัมละ 40 บาท เดิมอยู่ที่ราคา 25-30 บาท คะน้าตอนนี้อยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 60 บาท จากที่เคยรับซื้อกันที่ 40-50 บาท
ซึ่งถือว่าเป็นราคาผักที่แพงที่สุดในรอบเกือบครึ่งศตวรรษเลยก็ว่าได้ (ชมคลิปประกอบข่าว https://www.youtube.com/watch?v=3aTrP24cK1s )
นางบังอร เอี่ยมสงวน เกษตรกรชาว ต.บางม่วง อ.เมืองนครสวรรรค์ แหล่งปลูกผักสวนครัวป้อนตลาดใหญ่สุดแห่งหนึ่งของนครสวรรค์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาหลายพื้นที่มีปัญหาน้ำท่วม ประกอบกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป ทั้งฝนตกถี่-แดดแรง เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการปลูกผักชี จนชาวสวนไม่กล้าลงทุนปลูกในช่วงนี้ ทำให้ผลผลิตลดลงไม่พอต่อการส่งขาย ราคาผักชีในตลาดจึงพุ่งสูงขึ้น แต่จะเป็นแค่ช่วงนี้เท่านั้น เมื่อเข้าหน้าหนาวแล้วเกษตรกรก็จะกลับมาปลูกผักชีกันตามเดิม ผลผลิตก็จะมีพอป้อนตลาด ราคาก็จะลดลงเอง
ขณะที่ตลาดขายส่งผักสี่แยกพ่อขุนผาเมือง ต.น้ำชุน อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งค้าส่งผักใหญ่ที่สุดในภาคเหนือตอนล่าง ก่อนกระจายส่งขายเกือบทั่วประเทศโดยเฉพาะตลาดไทยและตลาดสี่มุมเมือง ก็พบว่าราคาผักแพงขึ้นทุกชนิดเช่นกัน
นางอุทัย เหมลา อายุ 51 ปี เกษตรกรชาว ต.ลานบ่า อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ เปิดเผยว่า ตนปลูกกวางตุ้งดอกขายมานานแล้ว เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ แต่ก็แบ่งปลูกเป็นช่วงๆ ให้ได้ผลผลิตตลอดทั้งปี ได้ราคาแพงบ้างถูกบ้าง ราคาถูกที่สุดจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 5-10 บาท สูงสุดที่เคยขายได้อยู่ที่กิโลกรัมละ 30-40 บาท แต่ปีนี้ราคาพุ่งขึ้นไปถึง 100-120 บาท ก่อนจะลดลงมาบ้าง เหลือประมาณ 70-80 บาท แล้วแต่บางวัน แต่เมื่อไปถึงกรุงเทพฯ แล้วราคาจะอยู่ประมาณกิโลกรัมละ 170-180 บาท ซึ่งถือว่าแพงมาก
สาเหตุปีนี้ราคาผักแพงเนื่องจากฝนตกชุก น้ำท่วม ทำให้ไม่มีพื้นที่ปลูก และผลผลิตก็ได้น้อยเพราะดูแลยาก รวมถึงผลกระทบจากน้ำมันแพง แต่ราคาก็จะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ จนกระทั่งหลังปีใหม่ราคาพืชผักจะถูกลงอย่างมาก เนื่องจากขณะนี้น้ำลดลงแล้วคนก็เริ่มปลูกผักและก็จะออกพร้อมๆ กัน
นายสุพร แซ่ว่าน อายุ 40 ปี เกษตรกรชาวภูทับเบิกซึ่งปลูกผักกาดขาวหรือผักกาดลุ้ย เปิดเผยว่า ราคาผักที่นำมาส่งตอนนี้กิโลกรัมละ 24 บาท เป็นราคาที่ไม่เคยขายได้แบบนี้มาก่อน ที่ผ่านมาจะขายได้กิโลกรัมละ 10-15 บาท และเคยมีราคาต่ำสุดกิโลกรัมละ 1.50 บาท ตนถึงกับต้องไถทิ้งเลยทีเดียว เพราะเก็บมาขายก็ไม่คุ้มต้นทุนที่กิโลกรัมละ 10-15 บาท
“ผักแพงเนื่องจากปีนี้ฝนตกชุก ผักที่ปลูกบนเขาแทบจะไม่ได้ผลผลิตเลย อีกทั้งค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าจ้างแรงงานก็แพง ก็ไม่รู้ว่าราคาผักถูกลงแล้วจะทำให้ขาดทุนหรือไม่”
นายนัท อินปัน อายุ 50 ปี พ่อค้าผักชาว อ.หล่มสัก เปิดเผยว่า ผลผลิตและปริมาณผักในพื้นที่มีค่อนข้างน้อย พ่อค้าแม่ค้าคนกลางก็ต้องแย่งกันซื้อทำให้ราคาสูงขึ้น อีกทั้งราคาน้ำมันก็สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อนำไปส่งยังปลายทางจึงต้องบวกค่าน้ำมัน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ไปด้วย และเมื่อพ่อค้าแม่ค้านำไปขายย่อยก็จะบวกกำไรไปอีก จึงทำให้ผักปลายทางมีราคาแพงกว่าต้นทางพอสมควร รวมทั้งพ่อค้าคนกลางยังต้องเสี่ยงที่จะขาดทุนเพราะผักราคาจะขึ้น-ลงเร็วมาก
ขณะที่ราคาพืชผักอื่นๆ ในตลาดขายส่งแห่งนี้ที่น่าสนใจ ได้แก่ มะเขือเปราะ ราคากิโลกรัมละ 32 บาท ถั่วฝักยาวกิโลกรัมละ 45 บาท ผักชี กิโลกรัมละ 230 บาท ขึ้นฉ่ายกิโลกรัมละ 250-300 บาท เป็นต้น ซึ่งถ้าหากนำไปขายที่ตลาดไทยหรือตลาดสี่มุมเมืองราคาจะพุ่งขึ้นอีกเกือบเท่าตัว
อย่างไรก็ตาม จากราคาพืชผักที่แพงขึ้นยกแผง ทั้งผักกาดขาว คะน้า กวางตุ้ง กะหล่ำปลี ผักชี และขึ้นฉ่าย ได้ส่งผลกระทบต่อทุกครัวเรือน รวมทั้งร้านค้าร้านอาหารตามสั่ง ร้านแกงถุง
นางมัณฑนา พุ่มพงษ์ อายุ 50 ปี เจ้าของร้านข้าวแกงถุงมัณฑนา หนึ่งในร้านแกงถุงใหญ่ที่สุดในเขตตลาดสดเทศบาลหนองฉาง จ.อุทัยธานี เล่าว่า ช่วงนี้ราคาผักพุ่งสูงเป็นเท่าตัว ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนเมนูผักมาประกอบอาหาร ลดการทำเมนูยำและเมนูอาหารต่างๆ ที่จำเป็นจะต้องใช้ผักราคาแพงลงไปก่อนเพราะสู้ราคาไม่ไหว และไม่อยากเพิ่มราคาขายกับลูกค้า
อีกทั้งตอนนี้ไม่ใช่แค่ผักเท่านั้นที่มีการปรับราคาสูงขึ้น หมู ไก่ ก็ปรับขึ้นไปอีกกิโลกรัมละ 10 บาท น้ำมันพืชก็เช่นเดียวกัน จากปกติเคยซื้อที่ขวดละ 46 บาท ตอนนี้เป็นขวดละ 53 บาทแล้ว เรียกได้ว่าตอนนี้ได้รับผลกระทบในเรื่องต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ซึ่งก็ค่อนข้างปรับตัวได้ยาก และถ้าราคาวัตถุดิบยังเป็นแบบนี้ก็อาจจะต้องตักอาหารให้น้อยลง แต่จะไม่ปรับราคาขายเพิ่ม เพราะถ้าขึ้นราคาขายไปมากกว่านี้ลูกค้าก็ซื้อกันไม่ไหว