ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - เขื่อนลำตะคอง โคราช เริ่มระบายน้ำวันแรก ล่าสุดเกินความจุ 105.42% ยันควบคุมไม่ให้กระทบ ปชช.พื้นที่ท้ายน้ำ พร้อมเร่งผลักดันมวลน้ำลำตะคอง-ลำบริบูรณ์ออกจากตัวเมืองโคราช เตือน ปชช.ติดตามข่าวสารใกล้ชิด ขณะทั้งจังหวัดฯ ยังจมอ่วม 13 อำเภอ เดือดร้อน 3,175 ครัวเรือน ส่วนเขื่อนขนาดใหญ่-กลางน้ำล้นเกือบทุกแห่ง
วันนี้ (25 ต.ค.) สำนักงานชลประทานที่ 8 นครราชสีมา รายงานสถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา และการดำเนินงานเร่งระบายน้ำออกจากตัวเมืองนครราชสีมา ระบุว่า ตามที่ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากพายุคมปาซุ ทำให้ร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทยในช่วงวันที่ 14-16 ตุลาคม 2564 ทำให้เกิดฝนตกหนักบริเวณด้านท้ายเขื่อนลำตะคองและเกิดน้ำท่วมไหลหลาก ตั้งแต่ อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน และ อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา
ในช่วงที่ผ่านมาสำนักงานชลประทานที่ 8 โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง ได้ดำเนินการเตรียมรับสถานการณ์ก่อนเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งได้พร่องน้ำในลำน้ำลำตะคองและลำบริบูรณ์ออกไปก่อนและหยุดการระบายน้ำที่เขื่อนลำตะคองมาตั้งแต่วันที่ 17 ต.ค. เพื่อลดผลกระทบในพื้นที่ท้ายเขื่อนลำตะคอง
ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา มีปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำ 331.546 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 105.42% ของความจุที่ระดับเก็บกัก 314 ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรองรับน้ำได้อีก 41.91 ล้าน ลบ.ม. แต่ยังมีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำลำตะคองอย่างต่อเนื่องประมาณ 2-3 ล้าน ลบ.ม./วัน และจากการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาในช่วงวันที่ 25-26 ตุลาคม 2564 หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางมีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นและเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนล่าง คาดว่าในช่วงวันที่ 27-28 ต.ค. 64 จะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนล่าง
จึงต้องเริ่มระบายน้ำตั้งแต่วันนี้ (25 ต.ค.) เพื่อเตรียมการรับสถานการณ์ฝนที่จะตก โดยจะค่อยๆ ทยอยการระบายน้ำด้วยอัตรา 10-20 ลบ.ม.ต่อวินาที หรือประมาณวันละ 864,000 ลบ.ม. เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อนลำตะคอง และน้ำที่ระบายจะเดินทางมาถึงอาคารแบ่งน้ำละลมหม้อประมาณ 4 วัน ซึ่งเป็นช่วงที่สถานการณ์น้ำในเขตตัวเมืองนครราชสีมาเริ่มคลี่คลายมากขึ้นแล้ว
สำหรับการดำเนินงานให้ความช่วยเหลือประชาชนในเขตตัวเมืองนครราชสีมา สำนักงานชลประทานที่ 8 โครงการชลประทานนครราชสีมา และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง ยังคงเร่งดำเนินการระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบต่อผู้ประสบอุทกภัยทั้ง 3 จุด ดังนี้
จุดที่ 1 เปิดประตูระบายน้ำข่อยงาม (ลำตะคอง) ทั้ง 3 บานพ้นน้ำ ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ จำนวน 5 เครื่อง สามารถเพิ่มอัตราการไหลรวม 5.75 ลบ.ม./วินาที เครื่องสูบน้ำ ขนาด 8 นิ้ว 2 เครื่อง อัตราการสูบน้ำรวม 800 ลบ.ม./ชั่วโมง
จุดที่ 2 ประตูระบายน้ำจอหอ (ลำบริบูรณ์ ต.จอหอ อ.เมืองนครราชสีมา) ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ จำนวน 3 เครื่อง สามารถเพิ่มอัตราการไหลรวม 3.45 ลบ.ม./วินาที เครื่องสูบน้ำ ขนาด 10 นิ้ว 1 เครื่อง อัตราการสูบน้ำรวม 500 ลบ.ม./ชั่วโมง และเครื่องสูบน้ำ 12 นิ้ว 1 เครื่อง อัตราการสูบน้ำรวม 800 ลบ.ม./ชั่วโมง
จุดที่ 3 เปิดประตูระบายน้ำกันผม (ลำตะคอง-ลำบริบูรณ์ ก่อนลงสู่แม่น้ำมูล) ติดตั้งเครื่องสูบน้ำประเภท Hydroflow ขนาด 28 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง ขนาด 24 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง อัตราการสูบน้ำรวม 2.50 ลบ.ม./วินาที เครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว 2 เครื่อง อัตราการสูบน้ำรวม 800 ลบ.ม./ชั่วโมง และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ จำนวน 4 เครื่อง สามารถเพิ่มอัตราการไหลรวม 4.60 ลบ.ม./วินาที เพื่อเร่งระบายน้ำในลำตะคอง ช่วงที่ไหลผ่านตัวเมืองนครราชสีมาลงสู่แม่น้ำมูล
อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารจากหน่วยงานราชการ หรือหากต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานชลประทานที่ 8 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง หรือสายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา
ขณะที่ฝ่ายจัดสรรน้ำโครงการชลประทานนครราชสีมารายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางของ จ.นครราชสีมา ล่าสุดวันนี้ (25 ต.ค.) ระบุว่า อ่างฯ เก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 4 แห่ง ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว มีปริมาณน้ำ 331.546 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 105.42% ของขนาดความจุที่ระดับเก็บกัก 314.49 ล้าน ลบ.ม., 2. อ่างฯ ลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย มีปริมาณน้ำ 154.643 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 99.77% ของความจุที่ระดับเก็บกัก 155 ล้าน ลบ.ม., 3. อ่างฯ มูลบน อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำ 146.347 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 103.79% ของความจุที่ระดับเก็บกัก 141 ล้าน ลบ.ม. และ 4. อ่างฯ ลำแชะ อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำ 271 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 98.80% ของความจุที่ระดับเก็บกัก 275 ล้าน ลบ.ม.
ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 23 แห่ง มีปริมาณน้ำเกินความจุ 18 แห่ง สรุปแล้ว จ.นครราชสีมามีอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณเกินความจุแล้วทั้งหมดรวมจำนวน 20 แห่ง, อ่างเก็บน้ำมีปริมาณน้ำระหว่าง 80-100% ของความจุ จำนวน 5 แห่ง และอ่างเก็บน้ำมีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% จำนวน 1 แห่ง
ทางด้านศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและดินโคลนถล่ม จ.นครราชสีมา รายงานสถานการณ์น้ำท่วม จ.นครราชสีมา ล่าสุดวันนี้ว่า จ.นครคราชสีมายังมีประสบน้ำท่วมอยู่ 13 อำเภอ ได้แก่ อ.โนนสูง, อ.คง, อ.เมืองยาง, อ.ประทาย, อ.โนนไทย, อ.โชคชัย, อ.พิมาย, อ.ปักธงชัย, อ.แก้งสนามนาง, อ.ชุมพวง, อ.เมืองนครราชสีมา, อ.จักราช และ อ.เฉลิมพระเกียรติ จำนวน 49 ตำบล 221 หมู่บ้าน 1 เทศบาลนคร 13 ชุมชน 3,175 ครัวเรือน
โดยเขตเทศบาลนครนครราชสีมายังประสบน้ำท่วม 3 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนคุ้มวงษ์, ชุมชนมิตรภาพ ซอย 4, ชุมชนหลังวัดสามัคคี (ซอยโรงเจ) 46 ครัวเรือน และ อ.เมืองนครราชสีมา ยังมีน้ำท่วม 9 ตำบล 23 หมู่บ้าน 884 ครัวเรือน ประกอบด้วย ต.โคกกรวด ต.หนองกระทุ่ม ต.โคกสูง ต.หมื่นไวย ต.ตลาด ต.จอหอ ต.หนองจบก ต.หัวทะเล และ ต.บ้านเกาะ
ส่วน อ.โนนสูงนับเป็นพื้นที่ประสบน้ำท่วมมากที่สุดของ จ.นครราชสีมาอยู่ขณะนี้จำนวน 10 ตำบล 51 หมู่บ้าน 10 ชุมชน ประชาชนเดือดร้อน 1,671 ครัวเรือน ประกอบด้วย ต.หลุมข้าว ต.ธารปราสาท, ต.ลำมูล, ต.ใหม่, ต.จันอัด, ต.มะค่า, ต.ด่านคล้า, ต.เมืองปราสาท, ต.ลำคอหงส์ และ ต.โนนสูง