xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวดีคนจน! รพ.ศรีนครินทร์รักษาป่วยโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองด้วยขดลวดใช้สิทธิบัตรทองเบิกได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ศูนย์ความเป็นเลิศโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง รพ.ศรีนครินทร์วิจัยค้นพบวิธีรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองโดยวิธีใส่ขดลวดแทนการผ่าตัดช่วยลดค่าใช้จ่ายจากหลักแสนเหลือแค่หลักหมื่น ทั้งยังลดเสี่ยงตาย เสี่ยงพิการ เปิดทางให้ผู้ป่วยที่ยากจนเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้นด้วยการใช้สิทธิบัตรทองเบิกค่าใช้จ่ายได้


โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยศูนย์ความเป็นเลิศโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง ล่าสุดได้เผยแพร่ผลงานวิจัย เรื่อง “ความคุ้มของการรักษาพยาบาลโดยวิธีใส่ขดลวด” โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) โดยทีมนักวิจัยได้ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลย้อนหลังจากผู้ป่วยในประเทศไทยกว่า 10 ปี และเก็บข้อมูลจากผู้ป่วยโรงพยาบาลศรีนครินทร์ กว่า 5 ปี เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ ผลการศึกษาวิจัยพบว่า การรักษาพยาบาลโดยวิธีใส่ขดลวดมีความคุ้มค่า และลดอัตราการพิการหรือเสียชีวิตได้

นพ.พิชเยนทร์ ดวงทองพล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทศัลยแพทย์ ประจำโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ได้เปิดเผยถึงงานวิจัยที่ว่าด้วยความคุ้มของการรักษาพยาบาลโดยวิธีใส่ขดลวด ทีมนักวิจัยวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ โดยเมื่อได้ผลการศึกษาวิจัยแล้ว จึงได้นำเสนอต่อที่ประชุมของ สปสช.สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดย ผศ.นพ.อำนาจ กิจควรดี เป็นผู้นำเสนอให้เห็นถึงความคุ้มของการรักษาพยาบาลประชาชนผู้ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองโดยวิธีใส่ขดลวด

จนกระทั่งได้รับความเห็นชอบ ผ่านการอนุมัติให้ผู้ป่วยที่ใช้สิทธิบัตรทอง สามารถเบิกจ่ายเงินค่าผ่าตัดโดยวิธีการใส่ขดลวด (Coiling) ได้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป

โดยมีประกาศว่า ให้ผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคเส้นเลือดสมองโป่งพองแล้วแตกต้องทำการผ่าตัดโดยใช้วิธีใส่ขดลวด สามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้ เส้นละ 13,500 บาท หรือ 1 คนจะใช้ประมาณ 4 เส้น สามารถเบิกจ่ายได้กว่า 50,000 บาท จากปกติผู้ป่วยที่ใช้สิทธิบัตรทองไม่สามารถเบิกจ่ายการรักษาด้วยวิธีใส่ขดลวดได้เลยซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงถึงกว่า 100,000 บาท”


ผศ.นพ.อำนาจ กิจควรดี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทศัลยแพทย์ ประจำโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ระบุอีกว่า โรงพยาบาลศรีนครินทร์ได้ก่อตั้งศูนย์ความเป็นเลิศโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองขึ้น โดยมุ่งเน้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ในแต่ละปีมีผู้ป่วยโรคเส้นเลือดสมองโป่งพองเข้ารับการรักษากับโรงพยาบาลศรีนครินทร์มากกว่า 100 ราย ที่ต้องรับการผ่าตัด แต่สามารถรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีการใส่ขดลวดได้แค่ 10% เท่านั้น เนื่องจากค่าผ่าตัดแบบใส่ขดลวดจะมีค่าใช้จ่ายเกือบหนึ่งแสนบาท เป็นปัญหาสำหรับประชาชนที่ยากจน ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้

“ข้อจำกัดในเรื่องความยากจนจึงถูกหยิบขึ้นมาเพื่อเป็นโจทย์ของงานวิจัยที่ว่าด้วยความคุ้มของการรักษาพยาบาลโดยวิธีใส่ขดลวด พบว่าผลการศึกษาของการรักษาเมื่อรักษาโดยการใช้ขดลวดมีความคุ้มในด้านค่าใช้จ่ายในการผ่าตัด เมื่อเทียบกับผลการรักษาหรือค่าใช้จ่ายหากเกิดความพิการขึ้น” ผศ.นพ.อำนาจกล่าว และว่า

ฉะนั้น ผู้ป่วยที่ใช้สิทธิบัตรทองสามารถเบิกจ่ายเงินค่าผ่าตัดโดยวิธีการใส่ขดลวด (Coiling) ได้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป นับว่างานวิจัย ความคุ้มของการรักษาพยาบาลโดยวิธีใส่ขดลวดชิ้นนี้ เป็นงานวิจัยที่ก่อให้เกิดผลดีต่อประชาชนผู้มีข้อจำกัดในเรื่องค่ารักษาพยาบาล โดยมีราชวิทยาลัยประสาทศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย เป็นหน่วยงานสำคัญในการร่วมผลักดันโครงการ จนเกิดผลสำเร็จเป็นอย่างดีต่อประชาชนชาวไทยทั้งประเทศได้เข้าถึงบริการเพื่อสุขภาพโดยไม่มีข้อจำกัด


สำหรับโรคเส้นเลือดสมองโป่งพอง เป็นโรคที่คนไข้จะมาพบแพทย์เมื่อมีภาวะเลือดออกในสมอง ซึ่งอยู่ในภาวะเร่งด่วนในการรักษา และมีโอกาสเส้นเลือดจะแตกซ้ำได้สูง อันจะนำมาสู่การเสียชีวิตหรือพิการ วิธีการรักษาจะมีการผ่าตัดเพื่อหนีบกระเปาะหลอดเลือดโป่งพองนั้น หรือใส่ขดลวดสปริง ขึ้นอยู่กับรอยโรคของผู้ป่วย ปัจจุบันมีวิธีการรักษาโดยการใส่ขดลวดสปริง ที่ได้ผลดี มีบาดแผลน้อย สามารถทำได้ในบริเวณที่ผ่าตัดได้ยาก แต่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง

"ที่ผ่านมาผู้ใช้สิทธิบัตรทองในประเทศไทยยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้ ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงการรักษาโดยการใส่ขดลวดสปริง ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณจึงต้องผ่าตัดแบบเปิดกะโหลกศีรษะ ส่งผลต่อการรักษาออกมาได้ไม่ดีเท่าที่ควร อีกทั้งยังเสี่ยงต่อภาวะพิการและเสียชีวิตสูง ซึ่งจะส่งผลต่องบประมาณการดูแลประชากรผู้ป่วยของรัฐ" ผศ.นพ.อำนาจกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น