กรณีการให้ข้อมูลว่า ความสัมพันธ์ของความดันโลหิต สามารถบ่งบอกโรค และปัญหาอวัยวะภายใน พร้อมทั้งระบุตัวเลขความดันโลหิต ที่บ่งบอกว่ากำลังเป็นโรคอะไรอยู่ ทางสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้ชี้แจงว่า ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง สามารถให้การวินิจฉัยได้ว่าอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อหลอดเลือดและอวัยวะต่าง ๆ แต่ไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่าเป็นโรคอะไร
วันนี้ (12 ต.ค.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีการให้ข้อมูลสื่อต่างๆ เรื่อง ความสัมพันธ์ของความดันโลหิต สามารถบ่งบอกโรค และปัญหาอวัยวะภายในได้ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลบิดเบือน
กรณีที่มีการโพสต์ข้อความให้ความรู้โดยระบุว่า ความสัมพันธ์ของความดันโลหิต สามารถบ่งบอกโรค และปัญหาอวัยวะภายใน พร้อมทั้งระบุตัวเลขความดันโลหิต ที่บ่งบอกว่ากำลังเป็นโรคอะไรอยู่
ทางสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้ตรวจสอบและชี้แจงประเด็นดังกล่าวว่า ความดันโลหิต คือการวัดแรงดันของหลอดเลือดที่สัมพันธ์กับการบีบและคลายตัวของหัวใจ จะแสดงค่าตัวเลข 2 ตัว ตัวเลขตัวบน แสดงแรงดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัว ตัวเลขตัวล่าง แสดงแรงดันโลหิตขณะหัวใจคลายตัว โดยค่าความดันโลหิตปกติ ในคนทั่วไปที่ไม่มีโรคประจำตัว ค่าความดันโลหิตตัวบนจะอยู่ในช่วง 90-139 มิลลิเมตรปรอท ค่าความดันโลหิตตัวล่างจะอยู่ในช่วง 60-89 มิลลิเมตรปรอท
ความดันโลหิตสูง คือค่าความดันโลหิตตัวบนตั้งแต่ 140 มิลลิเมตรปรอท หรือตัวล่างตั้งแต่ 90 มิลลิเมตรปรอท ตัวใดตัวหนึ่งถึงเกณฑ์ก็สามารถให้การวินิจฉัยความดันโลหิตสูงได้ ซึ่งความจำเป็นในการควบคุมค่าความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่อหลอดเลือดและอวัยวะต่าง ๆ ที่สำคัญเช่น ป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมองทั้งตีบ อุดตัน และแตก ป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดและกล้ามเนื้อหัวใจ ป้องกันการเกิดโรคไตวาย เป็นต้น โดยต้องควบคุมความดันโลหิตควบคู่กับควบคุมปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดอื่น ๆ เพื่อให้ได้ผลในการป้องกันโรคหลอดเลือดและภาวะแทรกซ้อนอย่างสมบูรณ์เช่น ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ไขมันในเลือด น้ำหนักตัว ควบคุมการสูบบุหรี่ เป็นต้น
ทั้งนี้ ความดันโลหิต ไม่สามารถบ่งชี้โรคของไขสันหลังได้ และความดันโลหิตสูงก็ล้วนมีผลต่อโรคหลอดเลือดสมองและโรคหลอดเลือดกล้ามเนื้อหัวใจ ไม่แตกต่างกัน
ดังนั้นข้อมูลที่มีการโพสต์ และแชร์ต่อในขณะนี้ จึงเป็นข้อมูลบิดเบือน ขอความร่วมมือประชาชน ไม่แชร์ ไม่ส่งต่อข่าวดังกล่าวเพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.pni.go.th หรือโทร. 02 3069899
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง สามารถให้การวินิจฉัยได้ว่าอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อหลอดเลือดและอวัยวะต่าง ๆ ที่สำคัญ แต่ความดันโลหิตไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่าเป็นโรคอะไร
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข