อ่างทอง - เจ้าหน้าที่ชลประทานชี้แจงเหตุ ประตูระบายน้ำคลองบางแก้ว ที่เปิดบานประตูระบายน้ำเจ้าพระยาไหลลงคลองน้อย เนื่องจากจะทำให้มวลน้ำไปเพิ่มให้แม่น้ำลพบุรี ที่กำลังประสบปัญหาน้ำมีปริมาณสูงมากอยู่แล้วในขณะนี้
วันนี้ (5 ต.ค.) ที่ประตูระบายน้ำคลองบางแก้ว ตำบลบ้านอิฐ อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง หลังจากน้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นตลิ่งเสมอระดับประตูน้ำคลองบางแก้ว แต่ด้านหลังประตูระบายน้ำคลองบางแก้วยังต่ำกว่าระดับเจ้าพระยาจำนวนมาก แต่หากการระบายลงคลองบางแก้วที่น้อยลง จนมีประชาชนสงสัยทำไมไม่เพิ่มระดับการระบายน้ำ เพื่อลดระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยานั้น
นายกานต์ โพธิ์ดอกไม้ วิศวกรชลประทานชำนาญการ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามหาราช เปิดเผยว่า คลองบางแก้วมีพื้นที่ ระยะทางยาว 15 กิโลเมตร และน้ำจากคลองบางแก้วนั้นจะไหลไปรวมกับทางแม่น้ำลพบุรี ซึ่งขณะนี้แม่น้ำลพบุรีรับศึกหนักอยู่ และเริ่มเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนแถวอำเภอบ้านแรก แล้วกว่า 100 กว่าหลังคาเรือน
ขณะนี้ชลประทานกำลังวางแผนจัดจราจรทางน้ำอยู่ พยายามระบายน้ำลงเจ้าพระยาให้ได้มากที่สุด พร้อมทั้งระบายน้ำจากประตูระบายน้ำคลองบางแก้วเข้าไปด้วยอยู่ที่ประมาณ 100 คิว อาจจะเพิ่มการระบายได้บ้าง แต่ทางชลประทานยังมีการผันน้ำเจ้าพระยาไปทางอื่นอีกด้วยเพื่อพร่องน้ำ คาดว่าอีกสักระยะหนึ่ง เขื่อนเจ้าพระยาน่าจะลดการระบายน้ำ จะส่งผลให้น้ำเจ้าพระยาลดระดับลง
ขณะที่ ต.จระเข้ร้อง ยังคงอ่วม น้ำเจ้าพระยาไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในพื้นที่หมู่ 3 ตำบลจระเข้ร้อง อ.ไชโย จ.อ่างทอง ยังคงไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่บ้านเรือนประชาชนสูงขึ้น และยังขยายวงกว้างไปยังพื้นพื้นที่หมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้ทำการเสริมแนวคันดินกั้นเพื่อให้น้ำท่วมอยู่ในวงจำกัด แต่ด้วยกระแสน้ำที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลาทำให้คันแนวกั้นระหว่างหมู่บ้านหลายจุดได้พังทลายเพิ่มขึ้นส่งผลกระทบหลายหมู่บ้านที่อยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา และน้ำยังคงเอ่อล้นสูงขึ้น ทำให้บ้านชั้นเดียวไม่สามารถอยู่อาศัยได้
ส่วนบ้าน 2 ชั้นก็ลุ้นระทึกเนื่องจากน้ำยังคงเพิ่มสูงตลอดเวลา มีหลายครอบครัวได้นำสิ่งของย้ายหนีน้ำมาอยู่บนถนนทางหลวงชนบทเส้นอ่างทอง-สิงห์บุรี แต่ระดับน้ำยังสูงขึ้นเอ่อล้นข้ามถนนไปยังถนนสายเอเชีย โดยทางเจ้าหน้าที่ได้นำรถ 10 ล้อขนดินลูกรังมากั้นบนถนนทางหลวงชนบทเพื่อเป็นกั้นน้ำไม่ให้ขยายวงกว้าง ส่วนน้ำเจ้าพระยาคงเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่อย่างต่อเนื่องคาดสูงขึ้นอีกประมาณ 70-90 เซนติเมตร
ซึ่งในพื้นที่จังหวัดอ่างทอง ได้รับผลกระทบ จำนวน 5 อำเภอ คือ อ.ป่าโมก อ.วิเศษชัยชาญ อ.ไชโย อ.เมือง และ อ.สามโก้ มีผู้ได้รับผลกระทบแล้วกว่า 4,000 ครัวเรือน
ด้านสถานการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ไหลผ่านจังหวัดอ่างทอง พบว่า ยังมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ที่หน้าศาลากลางจังหวัดอ่างทอง สถานี C.7A มีระดับน้ำสูง 9.26 เมตร จากระดับตลิ่งที่มีพังกั้นน้ำ 10 เมตร มีกระแสน้ำไหลผ่าน 2,545 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งเหลือไม่ถึง 40 เชนติเมตร มวลน้ำจะล้นพนังกั้นน้ำแล้ว และมีบางจุดที่วิกฤตเหลือไม่ถึง 10 เซนติเมตร