แม่ฮ่องสอน - หน้าฝนน้ำหลากเด็กเคยลอยคอไปเรียนกันมาแล้ว เจอโควิดซ้ำสอน On Site ไม่ได้ On Line เข้าไม่ถึง On Air ไม่มีไฟฟ้า เศรษฐกิจครัวเรือนมีปัญหา ครูล่องแพแบกนม ร.ร.-ขี่ จยย.ขึ้นเขาข้ามห้วย จัดหลักสูตรตระเวนสอนหย่อมบ้านแทน
ภาพจำ..โรงเรียนล่องแพวิทยา หมู่ที่ 10 บ้านสบโขง ต.แม่สวด อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 2 ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและการเดินทางเข้าถึงยากลำบาก ยิ่งช่วงหน้าฝนที่มักประสบปัญหาอุทกภัยจนนักเรียนต้องลอยคอข้ามน้ำมาเรียน ทำให้ทุกคนรู้จักชื่อโรงเรียนแห่งนี้
เมื่อประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ยาวนาน กระทบการเรียนการสอน On Site ทำให้ทั้งครูและนักเรียนต้องปรับเปลี่ยนให้รับมือตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
นายสยาม เรืองสุกใส ผอ.โรงเรียนล่องแพวิทยา กล่าวถึงแผนบริหารจัดการรับมือกับผลกระทบโควิด-19 อยู่ในขณะนี้ว่า ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่ยังคงน่าเป็นห่วง และเป็นภาระหน้าที่สำคัญของหน่วยงานสาธารณสุข ตลอดจนส่วนงานที่เกี่ยวข้องที่ต้องกำหนดมาตรการ-ติดตามรักษาอย่างเต็มกำลัง
การศึกษาของโรงเรียนบนพื้นที่สูงและชายแดนก็หนักหนาสาหัสไม่แพ้กัน แม้ครูจะไม่ได้เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบต่อการบำบัดรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ก็ตาม แต่เรามีภาระความรับผิดชอบโดยตรงต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนที่จะหยุดชะงักไม่ได้
ขณะที่โรงเรียนไม่สามารถเปิดเรียนในรูปแบบปกติได้ (On site) เฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเด็กด้อยโอกาสบนพื้นที่ภูเขาสูงและชายแดนที่ไม่สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (Online) และการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (On air) ด้วยข้อจำกัดทางสภาพเศรษฐกิจครัวเรือนและปัญหาโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้า
แต่สิ่งที่น่าห่วงและเป็นกังวลไม่เพียงแต่เฉพาะพัฒนาการด้านสติปัญญา ทักษะทางสังคมของเด็กที่ขาดช่วงและหยุดชะงักเท่านั้น แต่ผลพวงต่อเนื่องจากการปิดเรียนในรูปแบบปกติ (On site) ยังส่งผลถึงนักเรียนยากจนที่อยู่บนภูเขาสูงและชายแดนขาดแคลนอาหารและปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต ซึ่งปกติเคยได้รับบริการดูแลจากครูและโรงเรียน
“เราต้องยอมรับข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งว่าในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดารนั้น ความเหลื่อมล้ำยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องการได้รับการแก้ไขมาเป็นระยะเวลาเนิ่นนาน แม้ทุกรัฐบาลบรรจุสิ่งเหล่านี้ไว้ในแผนปฏิบัติการ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว 5 ปี 15 ปี และ 20 ปี แต่มันก็ไม่เคยถูกขับเคลื่อนอย่างจริงจังและเห็นผลสำเร็จที่จับต้องได้สักที จะมีบ้างที่เป็นโครงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแบบไฟไหม้ฟาง สุดท้ายเมื่อไฟมอดก็เหลือแต่เถ้าปลิวตามลมพัดเหลือไว้แค่ฝุ่นควันจางๆ”
ดังนั้น เราจึงพยายามลดช่องว่างของความไม่เท่าเทียมด้านการเรียนรู้ โดยไม่นำอุปสรรคด้านสภาพภูมิประเทศความทุรกันดารห่างไกลและความกลัวต่อโรคภัยมาเป็นข้ออ้างในการทำตามหน้าที่ของความเป็นครู ด้วยการนำการเรียนรู้เข้าสู่หย่อมบ้านห่างไกลตามภูเขาสูงและชายแดนที่มีเด็กๆ ของเราอาศัยอยู่สัปดาห์ละ 2 วัน จัดการเรียนรู้แบบหย่อมบ้านในชื่อโครงการครูหลังม้า (On hand On feet On heart)
โดยคำนึงถึงมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด ความหิวโหยและภาวะทุพโภชนาการจากการขาดแคลนอาหารในเด็กยากจนบนดอยสูง ที่ส่งผลต่อพัฒนาการด้านร่างกายจะต้องถูกป้องกันเพื่อให้เขาได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอต่อการเจริญเติบโต
“เราแบกอาหารขึ้นบ่า เราบรรทุกอาหารใส่ท้ายรถมอเตอร์ไซค์มัดด้วยยางรัด เราหอบถุงอาหารในอ้อมกอด (Longpae school grab food) เราไม่ได้เพิ่งทำแต่เราทำมานานแล้ว โดยหวังว่าลูกๆ ของเราจะอิ่มท้องและมีรอยยิ้ม เราคิดว่าความเป็นกังวลต่อปัญหาด้านการเรียนรู้และการขาดแคลนอาหารในเด็กยากจนบนดอยสูงและชายแดนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ จะได้รับการดูแลอย่างจริงจัง และเราได้แต่ภาวนาขอให้สถานการณ์ที่เป็นอยู่ขณะนี้คลี่คลายโดยเร็ววัน”
ครูสยาม ผอ.โรงเรียนล่องแพวิทยา ที่นำทีมคณะครูตระเวนจัดการเรียนการสอนแบบหย่อมบ้านกลางสถานการณ์โควิด ย้ำว่า สิ่งที่เราอยากเห็นคือความสุข ความสดใสร่าเริง รอยยิ้มและเสียงหัวเราะจากความอิ่มท้องและการได้เรียนหนังสืออย่างสนุกสนานของเด็กๆ กลับคืนมาอีกครั้ง ก่อนที่เขาเหล่านั้นจะหลุดออกจากระบบการศึกษา