ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - “อนุทิน” รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ลงพื้นที่โคราช เปิดเครื่องฉายแสงเร่งอนุภาค ศูนย์มะเร็ง รพ.มหาราชฯ พร้อมตรวจเยี่ยมให้กำลังใจการฉีดวัคซีนโควิด-19 และมอบถุงยังชีพช่วยประชาชนประสบภัยน้ำท่วมในเขตเมืองโคราช
วันนี้ (1 ต.ค.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงานเครื่องฉายแสงเร่งอนุภาค (Linac) เป็นเครื่องวางแผนการรักษาและเครื่องวัดปริมาณรังสี และขอบเขตการรักษา ณ ศูนย์มะเร็งโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา รองรับการให้บริการผู้ป่วยมะเร็งครอบคลุมทุกสาขา เช่น มะเร็งอายุรกรรม ศัลยกรรม กุมารเวชกรรม สูตินารีเวชกรรม เป็นต้น ทั้งในจังหวัดนครราชสีมา และรับส่งต่อจากจังหวัดในเขตสุขภาพที่ 9 ให้บริการรักษาทั้งการผ่าตัด การใช้ยาเคมีบำบัด และรังสีรักษา ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างก้าวล้ำ
จากนั้นเดินทางต่อไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโพนสูง ตำบลหมื่นไวย อำเภอเมืองนครราชสีมา เยี่ยมชมระบบการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 พร้อมให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงาน และพบปะประชาชนผู้มารับบริการ โดยจังหวัดนครราชสีมามีรายงานผลการฉีดวัคซีน ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 เป้าหมายประชาชน อายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 2,112,381 คน ผลการฉีดสะสมรวม 1,049,363 คน (49.68 %)
โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ, ผู้ป่วย 7 โรค, หญิงตั้งครรภ์ เป้าหมาย 678,583 คน ผลการฉีดสะสมรวม 400,467 คน (59.02%) และกลุ่มประชาชนอายุ 18-59 ปี เป้าหมาย 1,433,789 คน ผลการฉีด 648,896 คน (45.26%) ซึ่งในเดือนตุลาคมจะได้เร่งรัดการฉีดวัคซีนให้เป็นไปตามเป้าหมาย กลุ่มประชาชนทั่วไปฉีดให้ได้ 50% ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุ, ผู้ป่วย 7 โรค, หญิงตั้งครรภ์ ฉีดให้ได้ 70%
ต่อจากนั้นเดินทางไปที่วัดหมื่นไวย ตำบลหมื่นไวย อำเภอเมืองนครราชสีมา มอบถุงยังชีพให้แก่ประชาชนและผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยจังหวัดนครราชสีมาได้รับอิทธิพลจากพายุดีเปรสชัน “เตี้ยนหมู่” ซึ่งอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำพาดผ่าน ในวันที่ 25 กันยายน 2564 ทำให้ฝนตกหนักในพื้นที่ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมหลายพื้นที่ พบว่าพื้นที่ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 19 อำเภอ 80 ตำบล 314 หมู่บ้าน 10 ชุมชน ประชาชนประสบภัย รวม 10,586 ครัวเรือน โรงเรียน 4 แห่ง วัด 7 แห่ง ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 10 อำเภอ 27 ตำบล 78หมู่บ้าน
ทั้งนี้ ในเขตอำเภอเมืองนครราชสีมาได้รับผลกระทบ ได้แก่ ตำบลโคกสูง ตำบลหมื่นไวย ตำบลหนองกระทุ่ม และเขตเทศบาลนครนครราชสีมา รวม 4 ตำบล 7 หมู่บ้าน 2 ชุมชน 368 หลังคาเรือน
นอกจากนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมาได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน (Emergency Operation Center : EOC) เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ตอบโต้สถานการณ์ด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยคำนึงถึงมาตรการป้องกันและควบคุมโรค Covid-19 และให้ความช่วยเหลือสนับสนุน เช่น รองเท้าบูต 800 คู่, ยาผู้ประสบภัย 1,610 ชุด, ยาตำราหลวง 200 ชุด, ชุดนายสะอาด 183 ชุด, ถุงยังชีพ 200 ชุด เป็นต้น ออกให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข เยี่ยมบ้าน ประเมินสุขภาพจิต ดูแลกลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง รักษาพยาบาล และให้บริการการตรวจรักษาการเจ็บป่วยของประชาชน ได้แก่ ระบบทางเดินหายใจ 219 ราย ระบบผิวหนัง แพ้ ผื่นคัน 221 ราย น้ำกัดเท้า 353 ราย ระบบทางเดินอาหาร 34 ราย ระบบกล้ามเนื้อและกระดูก 130 ราย เป็นต้น