ราชบุรี - รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษลงพื้นที่ ต.จอมบึง จ.ราชบุรี ตรวจสอบกรณีชาวบ้านตลาดควายร้องเรียนฟาร์มหมูสร้างคันปิดทางน้ำปล่อยน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรเสียหายซ้ำซาก
บ่ายวันนี้ (17 ก.ย.) นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ พร้อมด้วยตัวแทนจากสำนักงานสิ่งแวดล้อม ภาคที่ 8 ราชบุรี ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 4 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ราชบุรี สำนักงานปศุสัตว์ จ.ราชบุรี และเทศบาลเมืองจอมพล ร่วมกันตรวจสอบกรณีชาวบ้านร้องเรียนการประกอบกิจการฟาร์มสุกรของบริษัทศุภฤกษ์ฟาร์ม จำกัด ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 29/2 หมู่ที่ 9 ต.จอมบึง อ.จอมบึง มีการขุดบ่อกักเก็บน้ำและสร้างคันดินปิดกั้นทางน้ำ เมื่อถึงช่วงหน้าฝนน้ำที่ถูกกักเก็บไว้มีการไหลลงพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านเป็นบริเวณกว้าง สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนที่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง และเป็นปัญหาต่อเนื่องมาหลายปี
อย่างไรก็ดี ในการลงพื้นที่ตรวจสอบของรองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษได้มีชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนมานำคณะจากหน่วยงานต่างๆ ไปดูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะนางมนัญชญา เจิมเกิด อายุ 59 ปี 1 ในชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ กล่าวว่า หลังจากที่ฝนตกต่อเนื่องลงมาคันดินที่ทางฟาร์มหมูของบริษัทดังกล่าวสร้างพังลงมา ทำให้น้ำที่ขังอยู่ในบ่อที่ทางฟาร์มเก็บไว้ไหลลงมาในพื้นที่ตนเองและชาวบ้านอีกหลายคนทำการเกษตรได้รับความเสียหาย และสร้างปัญหานี้มานานหลายปีจนแทบทำกินอะไรไม่ได้ ซึ่งตนเองและชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนสะสมมานาน จึงอยากให้ทางฟาร์มสุกรแก้ไขปัญหาไม่ให้น้ำไหลลงมาอย่างจริงจังและยั่งยืน
ด้านนายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า หลังจากลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า มีการรั่วไหลของน้ำจากฟาร์มสุกรดังกล่าวจริง บางส่วนได้รับการแก้ไขแล้ว แต่ยังมีบางส่วนที่ชาวบ้านยังได้รับความเดือดร้อนอยู่ โดยปัญหานี้มีมานานจึงอยากให้มีการแก้ไขปัญหานี้อย่างเบ็ดเสร็จไม่ให้อยากให้มีการร้องเรียนและเดือดร้อนซ้ำซากอีก และจากการที่ทางเจ้าหน้าที่หลายส่วนเข้ามาติดตามการรั่วไหลของน้ำทราบว่า ยังมีการร้องเรียนทุกปี ซึ่งการแก้ไขพูดคุยกันระหว่างชาวบ้านและฟาร์มสุกร ตลอดจนเจ้าหน้าที่ยังต้องมีการปรับความเข้าใจกัน ทางฟาร์มต้องปรับปรุงและป้องกันไม่ให้น้ำรั่วไหล ส่วนการป้องกันระยะยาวคงต้องมาหารือเพื่อวางแผนร่วมกันให้ชัดเจนไม่ให้เกิดผลกระทบเช่นนี้อีก
อย่างไรก็ดี ในการแก้ไขเบื้องต้นต้องป้องกันไม่ให้น้ำจากฟาร์มสุกรไหลลงสู่พื้นที่ชาวบ้านก่อน ส่วนการที่ชาวบ้านเสนอให้มีการทำ MOU ในการแก้ไขปัญหาร่วมกันนั้นคงต้องไปดูในรายละเอียดว่าทางชาวบ้านที่มีข้อเสนอแตกต่างจากทางฟาร์มนั้นคงต้องมาปรับและพูดคุยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งคงต้องใช้เวลา พร้อมทั้งให้มีหน่วยงานกลางประสานร่วมกันอีกครั้ง
ทั้งนี้ ในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนในขณะนี้คือ หาวิธีไม่ให้น้ำไหลลงพื้นที่ของชาวบ้านก่อน ส่วนความต้องการอื่นๆ ที่ชาวบ้านไปร้องเรียนกระบวนการศาลให้เป็นไปตามขั้นตอน แต่ในทางพื้นที่ทราบว่า ทางสำหนักงานสิ่งแวดล้อม ภาคที่ 8 ราชบุรี เข้ามาตรวจสอบแล้วพบว่าน้ำจากฟาร์มสุกรที่ไหลลงพื้นที่ชาวบ้านมีค่าทางมลพิษเกินมาตรฐาน และได้มีการทำหนังสือให้ทางฟาร์มดำเนินการแก้ไข ขณะนี้อยู่ระหว่างการให้สิทธิโต้แย้ง แต่ถ้าหากเกินกำหนดจะได้ดำเนินการบังคับใช้ตามกฎหมายต่อไป