xs
xsm
sm
md
lg

ม.แม่โจ้ลุยโครงการวิจัยพัฒนาปลูก “ต้นกระท่อม” ครบวงจร มุ่งต่อยอดพืช ศก.แห่งอนาคตตามนโยบายรัฐบาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงใหม่ - อธิการบดี ม.แม่โจ้นำปลูก "ต้นกระท่อม" ต้นแรกตามโครงการพัฒนาพืชเศรษฐกิจแห่งอนาคตหลังรัฐบาลปลดล็อกจากบัญชียาเสพติด เดินหน้าวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีการปลูกและสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ภาคเหนือ รวมทั้งการผลิตแปรรูปและการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ พร้อมขยายผลให้ชุมชนเกษตรกร


รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ พร้อมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ พาวิน มะโนชัย รองอธิการบดี และผู้บริหารมหาวิทยาลัย ร่วมกันปลูกต้นกระท่อมต้นแรกอย่างเป็นทางการของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ตาม "โครงการพัฒนาพืชเศรษฐกิจแห่งอนาคต:พืชกระท่อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้" ในพื้นที่ฟาร์มมหาวิทยาลัยแม่โจ้ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งสืบเนื่องจากการปลดล็อกพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด ประเภทที่ 5 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2564 ส่งผลให้ประชาชนสามารถปลูกและบริโภคกระท่อมได้ตามวิถีชาวบ้าน รวมทั้งยังซื้อหรือขายใบกระท่อมโดยไม่ผิดกฎหมาย โดยการปลดล็อกดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ สามารถส่งขายเชิงพาณิชย์หรืออุตสาหกรรมเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรไทย


ทั้งนี้ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยตอบสนองนโยบายรัฐบาล โดยริเริ่มโครงการพัฒนาพืชเศรษฐกิจแห่งอนาคต : พืชกระท่อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยปลูกพืชกระท่อมต้นแรกอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 กันยายน 2564 ณ ฟาร์มมหาวิทยาลัย โดยมีนิทรรศการเกี่ยวกับพืชกระท่อมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และการสาธิตวิธีการขยายพันธุ์ตามนิเวศวิทยาของภาคเหนือ ซึ่งจากการที่รัฐบาลปลดล็อกพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด ประเภทที่ 5 และผลักดันให้เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ ทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้ศึกษาและวิจัย โดยการปลูกพืชกระท่อมให้มีความเหมาะสมตามนิเวศวิทยาของภาคเหนือ รวมทั้งมหาวิทยาลัยมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาต่อยอดงานวิจัยด้านพืชกระท่อม ให้ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยเทคโนโลยีการผลิตพืชกระท่อมของมหาวิทยาลัยแม่โจ้จะสามารถพัฒนาศักยภาพการผลิตพืชกระท่อมในพื้นที่ภาคเหนือให้ประสบผลสำเร็จได้อย่างดียิ่ง

"มหาวิทยาลัยแม่โจ้มุ่งมั่นในการพัฒนาพืชเศรษฐกิจ และวิจัยต่อยอดนวัตกรรมด้านเกษตร อาหาร สุขภาพ โดยหนุนเสริมนักวิจัยในทุกศาสตร์ และสนับสนุนองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องทั้งด้านสถานที่ อุปกรณ์ เทคโนโลยีเพื่อสร้างระบบนิเวศในการคิดค้นวิจัยและพัฒนาเกษตรพื้นฐานตลอดจนนวัตกรรมทางการเกษตรเพื่อความเจริญวัฒนาของประชาชน และสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมในปัจจุบันและโลกอนาคต" รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพลกล่าว


ขณะนี้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พาวิน มะโนชัย รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ระบุว่า การดำเนินการตามโครงการนี้ ทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้มุ่งมั่นที่จะวิจัย พัฒนาเกี่ยวกับพืชกระท่อมอย่างครบวงจร ทั้งต้นน้ำกลางน้ำ และปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่การปลูก, การคัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ภาคเหนือ, ปริมาณสารสำคัญในใบกระท่อม, การควบคุมการผลิต, การแปรรูป และการตลาด ซึ่งทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยได้มีการเตรียมพร้อมการวิจัยพัฒนาอย่างครบวงจร หากได้ผลแล้วก็พร้อมที่จะส่งเสริมการผลิตและขยายผลที่เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจสู่ชุมชนต่อไป

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เนตรนภา อินสลุด หัวหน้าศูนย์วิจัยพืชกระท่อมมหาวิทยาลัยแม่โจ้ อาจารย์สังกัดคณะผลิตกรรมการเกษตร ให้ข้อมูลว่า ศูนย์วิจัยมีโครงการวิจัยการปลูกพืชกระท่อมหลายโครงการ เช่น โครงการวิจัยการปลูกพืชกระท่อมในนิเวศภาคเหนือ โครงการยกระดับคุณภาพเมล็ดพันธุ์พืชกระท่อมด้วยเทคโนโลยีที่เพิ่มศักยภาพในการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด รวมถึงเทคโนโลยีการขยายพันธุ์ต้นกล้าที่หลากหลาย โครงการนวัตกรรมระบบการผลิตพืชกระท่อมในโรงเรือนเพื่อส่งเสริมการผลิตและควบคุมคุณภาพผลผลิตให้มีสารสำคัญ เพื่อนำไปสู่การแปรรูปพืชกระท่อมเป็นผลิตภัณฑ์ได้มาตรฐาน ปลอดภัย และความคิดสร้างสรรค์ของทีมวิจัย Agri INNO (ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมทางการเกษตรสำหรับบัณฑิตผู้ประกอบการ) จนได้ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ เช่น เครื่องดื่มกระท่อม (Kratom Drink) ใบกระท่อมอบกรอบ (Kratom Sheet) ชาใบกระท่อม (Kratom Tea) บาล์ม (Kratom Balm) เจลลดปวด (Kratom Gel) และกัมมี (Kratom Gummy) เป็นต้น










กำลังโหลดความคิดเห็น